‘ปิยบุตร’ ประกาศหมดเวลา ม.112 เผยปัญหาและการบังคับใช้
ปิยบุตร ไลฟ์สด ประกาศหมดเวลาของ ม.112 แล้ว ชี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาทั้งตัวบทและการบังคับใช้
นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นข้อความที่นายปิยบุตรพูดถึง ม.112 ในไลฟ์ที่ผ่านมา โดยเลขาฯคณะก้าวหน้าระบุว่า หตุผล หลักการ สถิติ และหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ ให้เห็นว่าปัญหาของมาตรา 112 มีทั้งปัญหาตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลัง
+++ปัญหาของตัวกฎหมาย+++
1. ตำแหน่งแห่งที่ของมาตรา 112 อยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร เท่ากับว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำผิดตาม ม 112 เท่ากับเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ผลที่ตามมาคือแนวทางการวินิจฉัยคดีต่างๆ นั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นหนักไปที่การควบคุมอาชญากรรม หรือ crime control มากกว่ากระบวนการและการคุ้มครองสิทธิ หรือ due process of law
แนวทางของการใช้กฎหมายมาตรา 112 จึงเป็นไปในทิศทางที่มักจะไม่ค่อยให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก ทั้งๆ ที่จริงแล้วการหมิ่นประมาทดูหมิ่นกษัตริย์ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับความมั่นคงในราชอาณาจักร
เราอาจจะบอกว่าสัมพันธ์กันได้ ถ้าประเทศไทยยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะ กษัตริย์เท่ากับรัฐ เมื่อหมิ่นกษัตริย์จึงกระทบต่อรัฐด้วย แต่วันนี้เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว กษัตริย์ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่เจ้าของประเทศ การหมิ่นกษัตริย์ย่อมกระทบต่อกษัตริย์เท่านั้น ไม่ได้กระทบรัฐ
2. มาตรา 112 เขียนไว้ว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาตร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
จะสังเกตได้ว่าไม่มีการแยกฐานความผิดอย่างชัดเจน นั่นคือหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาตร้าย เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แต่พอเอามาเขียนปนยัดรวมกันไปอยู่ในมาตรา 112 ทั้งหมดแนวทางการใช้ก็จะปะปนกันไป
3. มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ ถ้าเราลองไปดูการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นหรือตำแหน่งอื่นๆ จะมีกรณีเหตุยกเว้นความผิด เช่น หากการหมิ่นประมาทนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นไปเพื่อการติชมโดยสุจริต เป็นไปเพื่อรักษาระบอบการปกครอง จะต้องเป็นเหตุยกเว้นความผิด ส่วนเหตุยกเว้นโทษนั้น ก็คือถ้าพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง อาจจะผิดแต่ยกเว้นโทษให้ แต่มาตรา 112 ไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย
4. อัตราโทษสูงมาก 3-15 ปี ซึ่งถ้าเราลองเปิดดูความผิดต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญา ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีโทษขั้นต่ำ หมายความว่าดุลพินิจของศาลจะลงโทษจำคุก 1-2 วันก็ได้ แต่พอเขียนระวางโทษเป็น 3-15 ปี ต่อให้ศาลเมตตาอย่างไรขั้นต่ำที่สุดก็จะลงที่ 3 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป
ความผิดฐานนี้ในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นลงโทษไม่เกิน 7 ปีแต่ปัจจุบันที่เราบอกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย โทษกลับสูงถึง 3-15 ปี และผมยืนยันตรงนี้ว่าอัตราโทษนี้สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว
5. บทบัญญัติในมาตรา 112 เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไปแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ ตรงนี้เองที่เปิดโอกาสให้มีการกลั่นแกล้งกันได้
+++ปัญหาจากการบังคับใช้+++
1.แนวทางการปฏิบัติของคดี 112 นั้น ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่มักจะไม่ยอมใช้ดุลพินิจ มักจะสั่งฟ้องไว้ก่อน เสร็จแล้วก็ไปขึ้นโรงขึ้นศาลแล้วค่อยว่ากัน ถ้าศาลบอกว่าไม่ผิดคุณก็รอด ถ้าศาลบอกว่าผิดคุณก็ติดคุกไป เจ้าพนักงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไม่ยอมใช้ดุลพินิจ สั่งฟ้องไปหมด
ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้เป็นการกลั่นแกล้งกันได้ บางทีก็ไปฟ้องกันไกลๆ จากที่ที่คนถูกฟ้องอยู่อย่างหลายคดีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ แล้วคนที่ถูกฟ้องร้องก็ต้องเดินทางไปแก้คดีในจังหวัดต่าง ๆ แล้วยังเอามาใช้กันในการกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง เอามาใช้ปิดปากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วย
2. มีการตีความกฎหมายขยายออกไปอย่างกว้างขวาง หลายกรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย แต่ก็ถูกลงโทษ หลายกรณีกระทำต่อวัตถุ สิ่งของ สัญลักษณ์ ก็ถูกลงโทษ หลายกรณีไม่ได้หมิ่น 4 ตำแหน่ง (กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ก็ถูกลงโทษ
+++ปัญหาอุดมการณ์ความคิดที่อยู่เบื้องหลัง+++
1.ในประเทศอื่นที่เขามีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยจริง เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดจะไม่นำมากฎหมายหมิ่นประมาทประมุขมาใช้ หรือหากนำมาใช้ก็ลงโทษแล้วรอลงอาญา หรือลงโทษปรับ
แต่พอตัวบทแบบนี้มาอยู่ในประเทศนี้ ที่มีอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับอยู่ เราจึงเห็นแนวโน้มการใช้ 112 แบบกว้างขวางมาก จนเราไม่รู้เลยว่าองค์ประกอบเงื่อนไขมันอยู่ตรงไหน จนเราไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วเราพูดอะไรได้บ้าง เราแสดงเสรีภาพตรงไหนได้บ้าง จนเกิดความพร่าเลือนไม่ชัดเจนว่าความผิดฐาน 112 แบบไหนเรียกว่าผิด แบบไหนเรียกว่าไม่ผิด
.
เราเห็นตัวอย่างกันอยู่บ่อยครั้ง การแสดงออกซึ่งไม่เข้ากรอบความผิดเลย แต่ศาลก็ตีความว่าเป็นความผิด ถ้าอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริง มาตรา 112 จะมีไว้แต่อาจจะไม่ใช้ก็ได้ มันอาจจะกลายเป็นกฎหมายที่นอนหลับอยู่เฉยๆ
2. หากเราลองดูสถิติการดำเนินคดี 112 หลังรัฐประหาร 2549 ขึ้นสูงมาก หลังเหตุการณ์ปี 2553 ขึ้นสูงมาก หลังรัฐประหารปี 2557 ขึ้นสูงมาก แล้วยังไปดำเนินคดีในศาลทหารด้วย
แต่หลังปี 2561 การดำเนินคดีน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ปรากฏการสั่งฟ้องการดำเนินคดี 112 เลย แต่ยังใช้ 116 บ้าง ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์บ้าง จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2563 ช่วงปลายปี นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นคนพูดออกในที่สาธารณะเอง ว่าที่ผ่านมาไม่ใช้ 112 เพราะอะไร
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยพูดไว้ว่า “สำนึกไว้ด้วยว่ามาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณกำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ ลามปามกันไปเรื่อย ทุกคนที่มีความรักชาติศาสน์กษัตริย์ต้องช่วยกัน”
จากประโยคนี้เองเรามองเป็นอื่นไปไม่ได้เลย ว่าสุดท้ายแล้ว 112 จะถูกใช้หรือไม่ถูกใช้ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง อย่างที่เห็นทุกวันนี้ สถิติการดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นกว่า 150 กว่าคดีแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า 112 ไม่ใช่ตัวบทกฎหมายแบบธรรมดา แต่จะถูกฟื้นชีวิตขึ้นมาเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ปิยบุตรสรุปว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมีทั้งปัญหาตัวบท การบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลัง”