ข่าวข่าวภูมิภาค

สถิติเผย หญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมวันละ 47 คน อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

สถิติเผย หญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมวันละ 47 คน อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.2 ล้านคน เสียชีวิตราว 680,000 คน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในเดือนตุลาคมของทุกปีองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านม

Advertisements

สำหรับประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย แต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 17,043 คน หรือคิดเป็น 47 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติตรวจพบก้อนที่เต้านมมาก่อนหรือมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม นอกจากนี้พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูงทำให้เป็นโรคอ้วน และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคอีกด้วย

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งเต้านมสามารถพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศชายในอัตราที่น้อยมาก ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการและมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมหรือบริเวณรักแร้ อาการอื่น ๆ ที่อาจสังเกตได้จากขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเป็นแผลและอาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือดไหลออกมาหรือเป็นผื่นบริเวณหัวนม ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยเคมีบำบัด และการรักษาด้วยฮอร์โมน หรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกันโดยทีมแพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ระยะและการลุกลามของโรค สุขภาพและความต้องการของผู้ป่วย เป็นต้น เพื่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ก็เป็นมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายขาดหากตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก โดยสามารถตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมควรพิจารณาเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ร่วมด้วย

มะเร็งเต้านม

Advertisements

 

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button