ข่าวข่าวภูมิภาค

แพทย์ยืนยัน! ยังไม่พบ โควิดมิว ใน ไทย หลัง WHO ยกระดับเฝ้าระวัง

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ออกมายืนยันว่า โควิดมิว ยังไม่พบใน ไทย และยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เชื่อไม่มีหลักฐานว่าอันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลกยกระดับเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์มิว หรือ B.1.621 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง หลังจากที่มีการพบว่าโควิดสายพันธุ์นี้อาจหลบภูมิต้านทานได้ดีกว่าโควิดอื่นๆ

“สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลืองที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern :VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ เดลตา , อัลฟา , เบตา และแกมมา สำหรับสายพันธุ์มิวระบาดอยู่ในประเทศที่ไกลจากบ้านเรา และประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทยก็ยังไม่พบรายงานการระบาด ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้” ดร.วสันต์ กล่าว

ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า ความกังวลที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปหรือแอนติบอดี้สังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตอบสนอง ดังนั้นจึงต้องรีบศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ได้หมายความว่าในร่างกายมนุษย์จริงๆ จะเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่เรากังวลใจทำให้เกิดการเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่ดี เช่น สายพันธุ์เบตาที่ระบาดในนราธิวาส แต่เมื่อศึกษาพบการแพร่ระบาดไม่ได้เพิ่มจำนวนมากเท่าเดลตาหรืออัลฟา กระทรวงสาธารณสุขก็ควบคุมจำนวนจนเรียกได้ว่าเอาอยู่ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังสายพันธุ์มิวสำหรับประเทศไทย ต้องเข้มงวดระบบการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งในสถานกักตัวผู้มาจากต่างประเทศและโครงการแซนด์บ็อกซ์

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมแถลงความคืบหน้า การตรวจหาเชื้อโควิดในสายพันธุ์ กลุ่ม AY หรือ C.1.2 และสายพันธุ์มิว ล่าสุด ยังไม่พบทั้งสายพันธุ์ C.1.2 หรือ มิว ในไทย เข้าใจว่าการเผยแพร่ข่าวการพบสายพันธุ์ต่างๆ มาจากการอ่านข่าวข้อมูลจากต่างประเทศ อย่าเพิ่งรีบตกใจหรือกังวล มาตรการต่างๆ ทั้งสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และมีระยะห่างยังเป็นกลไกป้องกันควบคุมโรคที่ดีที่สุด

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button