สุขภาพและการแพทย์

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยในมาตรการ Home Isolation

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สนองรับมาตรการ Home Isolation พร้อมช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย COVID-19

ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดจนทำให้ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่เตียงเต็ม จนไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่ม “Home Isolation” หรือการกักโรคที่บ้านเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและดูแลตัวเองสำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการหรือผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มาก จึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นที่สุดในยามนี้เช่นเดียวกับที่ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และสถานที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

Advertisements

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์การแพทย์ฯ ได้สนองรับนโยบาย Home Isolation จากกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ หรือผู้ป่วยอาการน้อยที่มีสถานที่พักห่างจากศูนย์การแพทย์ฯ ไม่เกิน10 กิโลเมตร ทำการ Home Isolation กักโรคที่บ้าน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการและดูแลตัวเอง โดยได้จัดถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ยาที่จำเป็น และอาหารปรุงสำเร็จ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลคอยโทรศัพท์ติดตามสอบถามอาการและให้คำแนะนำตลอดระยะเวลา 14 วัน

แม้ในส่วนของชุมชน ทางศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยตรง แต่ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์อำนวยการหลักที่คอยเตรียมพร้อม ทั้งในด้านบุคลากร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 เมื่อมีการส่งต่อกรณีฉุกเฉิน การจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญเช่น เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งได้มีการจัดซื้อเตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่ก่อนช่วง COVID-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับห้องฉุกเฉิน หรือ Emergency Room บางส่วนมาจัดทำเป็นห้อง Negative Pressure Room หรือห้องปลอดเชื้อความดันลบอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำ “Negative Pressure Cabinet” เพื่อใช้ในการตรวจผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งประกอบด้วยโครงท่อ PVC สวมคลุมด้วยพลาสติกกั้นอย่างหนา โดยเป็นโครงที่มีเลขกำกับบนทุกชิ้นส่วน สามารถถอดเก็บและสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในทุกสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งจะเป็นการช่วยลดโลกร้อนจากปัญหาการเพิ่มขยะได้อีกด้วย

Advertisements

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ได้กล่าวแนะนำถึงผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ หรือผู้ป่วยที่มีอาการน้อยซึ่งจะต้องทำ Home Isolation ที่บ้านของตัวเองว่า ควรเตรียมห้องนอน และห้องน้ำที่ไม่ปะปนกับผู้อื่น หรือมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ตลอดจนเว้นระยะห่างที่เหมาะสมจากบุคคลอื่นในบ้าน รวมทั้งคอยตรวจเช็คอุณหภูมิร่างกายให้ไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และระดับออกซิเจนในเลือดให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ซึ่งสามารถโทรศัพท์ปรึกษาอาการได้กับทางทีมแพทย์และพยาบาลของศูนย์การแพทย์ฯ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร – ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ. นพ. ธีระ กลลดาเรืองไกร กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “หากมีสติ ไม่ประมาท และคอยดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม แม้ COVID-19 จะกลับมาระบาดอีกกี่ครั้ง ก็จะสามารถปรับตัวได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยCOVID-19 มีเป็นจำนวนมาก

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทางศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดไว้ให้ในถุงยังชีพ จึงมีไม่เพียงพอ และเนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในทันที จึงจำเป็นต้องมีการระดมทุนจัดซื้อจากผู้บริจาค โดยสามารถแสดงความจำนงได้ทาง FB: ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”

 

สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button