อนุทินบินด่วน แม่ฮ่องสอน ส่งวัคซีนโควิดให้บุคลากรพื้นที่ชายแดน
อนุทิน บินด่วนนำวัคซีนโควิด 2,000 โดส ให้ รพ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าแนวชายแดน
แม่ฮ่องสอน วัคซีนโควิด – วันที่ 2 เมษายน 2564) ที่โรงพยาบาลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝ่ายความมั่นคง และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม มอบนโยบายดำเนินงานรองรับเหตุการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน และมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 2,000 โดส ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 100,000 ชิ้น หน้ากากอนามัยชนิด N 95 จำนวน 20,000 ชิ้น เจลแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงานดูแลประชาชน
นายอนุทินกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต้องการให้เจ้าหน้าที่มีความปลอดภัยขณะปฏิบัติงานดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ที่เดินทางข้ามแนวชายแดนเข้ามาตามปกติซึ่งมีประมาณวันละ 1,000 – 2,000 คน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีอัตราการระบาดของโรคโควิด 19 สูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อโควิด 19 ได้
ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้นำวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของซิโนแวค จำนวน 2,000 โดส ที่ได้จัดส่วนหนึ่งสำรองไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า เช่น ทหาร ตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อาสาสมัครรักษาดินแดน และอสม. ที่ทำงานในพื้นที่ชายแดน เพื่อลดความรุนแรง ป้องกันการป่วยโรคโควิด 19 เป็นการยืนยันถึงความพร้อมของระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย
นายอนุทินกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ในการเฝ้าระวัง คัดกรองคัดแยกผู้ที่ติดเชื้อโควิค 19 หากพบผู้ป่วยจะนำเข้าสู่ระบบการรักษา ส่วนผู้ที่ไม่แสดงอาการจะอยู่ในพื้นที่ที่ฝ่ายความมั่นคงจัดไว้เป็นเวลา 10 วัน และติดตามอาการจนกว่าจะหาย ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่าโรงพยาบาลแม่สะเรียง มีความพร้อมในการดูแลรักษา ทั้งบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และห้องแยกโรค รวมทั้งการดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บมาก จะตั้งโรงพยาบาลสนาม ตามหลักสากล โดยมีโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ เป็นโรงพยาบาลหลักในการดูแล ปัจจุบันมีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในประเทศไทย 7 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลสบเมย โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ และโรงพยาบาลแม่สะเรียง ทุกรายได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ผลไม่พบเชื้อ
ที่มา: Thaigov