คกก.สุขภาพจิตแห่งชาติ ผนึกกำลังขับเคลื่อนป้องกันการ ฆ่าตัวตาย
คกก.สุขภาพจิตแห่งชาติ ลงมติผนึกกำลังขับเคลื่อนเพื่อป้องกันการ ฆ่าตัวตาย ที่มีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากเหตุผลมากมาย โดยหลักนั้นมาจากปัญหาความสัมพันธ์และเศรษฐกิจ
คกก.สุขภาพจิตแห่งชาติ เห็นชอบผนึกกำลังขับเคลื่อนและเป็นกระบอกเสียงป้องกันการ ฆ่าตัวตาย สร้างการรับรู้สวัสดิการทางสังคมและสร้างพลังใจ เพื่อลดความสูญเสีย ในปี 2563 พบปัจจัยด้านความสัมพันธ์และเศรษฐกิจเป็นสาเหตุหลัก โดยให้มีการจัดทำแนวทาง “ซื้อเวลา” และมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยกล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งด้านทรัพยากร สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียด วิตก กังวล และซึมเศร้า
ส่งผลให้ผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตและเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอาจรุนแรงลงมือฆ่าตัวตายเป็นทางออกในการแก้ไขของปัญหา จากข้อมูลพบว่า อัตราการฆ่าตัวตาย ในประเทศไทยเฉลี่ยแต่ละปีมีจำนวน 53,000 – 54,000 คน แต่กระทำสำเร็จประมาณ 4,000 คน คิดเป็น ร้อยละ 6-6.5 และในปี 2560 เป็นต้นมา
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ปี 2563 (มกราคม – พฤศจิกายน) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเกือบ 5,000 คน เป็นเพศชายมากกว่าหญิง พบมากในกลุ่มวัยทำงาน กับผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงาน/กลุ่มรับจ้าง เกษตรกรรม และกลุ่มไม่มีรายได้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การฆ่าตัวตายจึงถือเป็นปัญหาสุขภาพจิตและเป็นปัญหาทางสังคม ไม่สามารถ แก้ปัญหาได้เพียงมาตรการด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว หน่วยงานทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยดูแลสวัสดิการสังคม ดูแลคุณภาพชีวิต และร่วมกันเป็นกระบอกเสียงป้องกันการฆ่าตัวตาย
ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานและจัดหาแนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย ด้วย ยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ซึ่งครอบคลุมปี 2564-2565 เน้นสร้างความรับรู้และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิสวัสดิการทางสังคมสุขภาพพื้นฐาน เสริมสร้างพลังใจ
เป็นการ “ซื้อเวลา” เพื่อให้เกิดการตัดสินใจใหม่ ลดการฆ่าตัวตาย, คัดกรอง ค้นหา และเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยงด้านสาธารณสุข เช่น ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช มีปัญหาสุรายาเสพติด และผู้เคยมีประวัติฆ่าตัวตาย, พัฒนารูปแบบ การจัดการในจังหวัดเพื่อลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย และพัฒนาระบบเทคโนโลยี นวัตกรรม แก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานและแนวทางการดำเนินงานเพื่อบูรณาการระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน เพื่อร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายช่วยประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน ได้รับการคุ้มครองสิทธิและรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรฐานสากล ป้องกันไมได้เกิดอันตรายต่อสังคม พร้อมลดภาระ ทรัพยากร งบประมาณ และทรัพยากรด้านบุคลากรของรัฐได้
ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมตั้งแต่ระบบการนำส่งผู้ป่วย การรักษา การใช้สิทธิรักษาพยาบาล และ การกลับเข้าสู่ชุมชนของผู้ป่วย และติดตามรักษาอาการฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรฐาน ผู้ให้บริการด้านจิตวิทยาการปรึกษา ทั้งแบบเฉพาะหน้าและผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อให้ได้รับการรับรองเป็นบริการสาธารณสุข ภายใต้หลักระบบหลักประกันสุขภาพ
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
- ส่องประวัติ หมอเบิร์ท โฆษก ศบค. ดีกรี นางสาวไทย
- 14 ม.ค. 64 ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 2 ราย พร้อมเผย ไทม์ไลน์
- เจ็บมาเยอะ! น้องไดโน ขอนแก่น โดนอีกล่าสุด ไฟไหม้ ล้มขวางถนน
- รมว. คลัง ยืนยัน วิธีสมัครเราชนะ ไม่ยาก
#ข่าวประชาสัมพันธ์ #ข่าวกระทรวง #ข่าวหน่วยงาน #ข่าวทั่วไป #ข่าวสุขภาพ #กระทรวงสาธารณสุข #คกก.สุขภาพจิตแห่งชาติ #สุขภาพจิต #การฆ่าตัวตาย #คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ