ข่าวข่าวการเมือง

ไอติม เรียกร้องยกเลิกเกณฑ์ทหาร หลังมี ทหารตายปริศนา 3 นาย

หลานชายอดีตนายกฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หลังเกิดเหตุสลดขึ้น เมื่อ พลทหารตายปริศนา 3 นาย

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกโพสต์ข้อความเรียกร้อง ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ผ่านทาง เฟสบุ๊ค หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีนายทหารเสียชีวิตปริศนาภายในค่ายทหารถึง 3 นาย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในช่วงอายุ 21-22 ปี

โดย ไอติม ได้กล่าวว่า “ลำพังการสูญเสียบุคลากรของประเทศ แม้เพียงคนเดียว ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจพอแล้ว
.
แต่การเสียชีวิตภายในค่ายทหารของพลทหารถึง 3 นาย ที่มีอายุเพียง 21-22 ปี ซึ่งปรากฏเป็นข่าวภายในสัปดาห์เดียว เป็นเรื่องที่สะเทือนจิตใจของคนในสังคมอย่างถึงที่สุด
.
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ภายหลังมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้ร่างกฎหมายนี้ไม่มีโอกาสได้รับการพิจารณาในสภา
.
ผมติดตามเรื่องนี้พร้อมกับคำถามที่ว่า จะมีประชาชนอีกกี่คนที่ต้องสูญเสียอนาคตของเขาหลังจากถูกบังคับเข้าไปเป็นทหาร ประเทศนี้จะพัฒนาได้อีกมากแค่ไหน

Advertisements

หากพลทหารเหล่านี้ได้มีโอกาสเลือกทำงานที่เขารัก และ กองทัพบกในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จะปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง จึงจะเริ่มแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ อย่างจริงจังและจริงใจเสียที”

นอกจากนี้ ไอติม ยังได้ยกเหตุผล 3 ข้อที่ทางกองทัพควรยกเลิกการเกณฑ์ทหารแต่ไปใช้ระบบสมัครใจแทน

“1. “การเกณฑ์ทหาร ไม่จำเป็น”
.
ต้องขอย้ำว่าความหมายของ “การเกณฑ์ทหารไม่จำเป็น” ไม่เท่ากับ “ทหารไม่จำเป็น” – การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก็ไม่เท่ากับการที่ประเทศจะไม่มีกองทัพ ทหารเป็นอาชีพที่มีคุณค่าและสำคัญต่อประเทศ หากทหารได้ทำหน้าที่ของทหารจริง ๆ
.
แต่สิ่งที่ผมกำลังหมายถึง คือไม่จำเป็นต้อง “เกณฑ์” หรือบังคับ แต่ให้รับเฉพาะคนที่สมัครใจ
.
ผมพูดเรื่องนี้ ไม่ใช่ด้วยอคติ แต่ด้วยข้อมูล เพราะเมื่อวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์จากอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) แล้ว จะเห็นว่าการเกณฑ์ทหารในไทยไม่มีความจำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงในประเทศ
.
จากอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการของกองทัพ การขอกำลังพล 100,000 ต่อปี ถือว่า “สูงกว่าความจำเป็น” ในการรักษาความมั่นคง เมื่อเปรียบเทียบขนาดของกองทัพและยอดกำลังพลต่อประชากรกับต่างประเทศ จะพบว่าประเทศไทยน่าจะสามารถลดยอดพลทหารได้ถึง 30-40%
.
โดยปัจจุบัน ประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่กว่าเรา และ กองทัพต่อประชากรสูงกว่าเรา มีเพียงเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เมียนมาร์ อิหร่าน และรัสเซีย ซึ่งจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้ หากไม่เป็นประเทศมหาอำนาจ ก็เป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งสิ้น
.
นอกจากนั้น จากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อครั้งเป็นพลทหาร และจากการพูดคุยกับพลทหารและนายทหารจากค่ายอื่นๆ ผมได้เห็นว่าในจำนวน 100,000 คนนั้น หลายคนไม่ได้ทำงานที่จำเป็นต่อความมั่นคง
.
(i) บางคนเป็น “ยอดผี” ที่มีชื่ออยู่ใน 100,000 คน แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทหารด้วยซ้ำ เพราะอาจมีการมอบเงินเดือนตัวเองไปแลกกับการได้ออกมาจากค่ายก่อนเวลา
.
(ii) บางคนทำหน้าที่เป็นทหารรับใช้ประจำบ้านของนายทหาร เพื่อทำหน้าที่ซักผ้า ตัดหญ้า ขับรถ ให้นายทหารโดยไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
.
(iii) บางคนทำงานที่ดูผิวเผินเหมือนจะยุ่ง แต่ในความเป็นจริง อาจเป็นการสร้าง “งานปลอม” ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในวงกว้าง (เช่น การใช้เวลาทั้งวันทำความสะอาดกองร้อย – วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ค่ายทหารสะอาด คือการไม่ต้องเกณฑ์ทหารหลายคนไปอยู่ในค่ายทหารตั้งแต่ต้น)
.
(iv) งานบางอย่างอาจใช้คนเยอะไป หรือเป็นงานที่เทคโนโลยีทำแทนได้
.
(v) ภัยคุกคามต่อประเทศได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นประเภทที่ขนาดของกำลังพลไม่สามารถช่วยอะไรได้ เช่น ภัยของอาวุธนิวเคลียร์ ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์
.
เมื่อวิเคราะห์จากด้านอุปสงค์ (Supply) หรือจำนวนคนสมัครเป็นทหาร จะพบว่าตัวเลข “สูงกว่านี้ได้” หากประชาชนเห็นว่าพลทหารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะได้มาจาก 3 ทาง คือ
.
(i) รายได้ ที่สูงขึ้น (จากอัตราปัจจุบันที่ 10,000 บาท) และที่ไม่ถูกหักค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าชุดที่ถูกบังคับให้ต้องซื้อ
.
(ii) สวัสดิการที่กว้างขวางขึ้น เช่น ด้านการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวพลทหาร หรือ การสนับสนุนทุนการศึกษาให้ทหารหรือบุตรหลาน
.
(iii) ความก้าวหน้าทางอาชีพ ที่มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะลดเกณฑ์เรื่องวุฒิการศึกษาในการสมัครต่อนายสิบ หรือการสร้างความเท่าเทียมระหว่างพลทหารที่ต้องการเติบโตในกองทัพ กับนักเรียนจากโรงเรียนนายร้อย
.
สิ่งที่เป็นรูปธรรมของความไม่มั่นใจว่าการเป็นพลทหารจะมาพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี คือภาพความผิดหวัง-เสียใจของชายไทยหลายคนที่ปรากฏอยู่ทุกปี เมื่อรู้ว่าตัวเองจับได้ใบแดง
.
ผมเชื่อว่าความรู้สึกนั้นไม่ได้เกิดจากความไม่กล้าหาญ หรือไม่ต้องการ “รับใช้ชาติ” แต่เพราะเขารู้ว่าเวลาที่ต้องอยู่ในกองทัพ คือค่าเสียโอกาสที่ประเมินไม่ได้ บางคนสูญเสียรายได้ บางคนต้องออกจากงานที่กำลังไปได้ดี บางคนต้องแยกจากครอบครัว ภรรยา และลูกที่ยังเล็ก
.
ดังนั้น หากกองทัพทราบว่าไม่จำเป็นต้องมีกำลังพลมากขนาดนั้น หากทราบว่าเศรษฐกิจไทยต้องเสียแรงงานไปถึง 100,000 คนต่อปี เหตุใดจึงยังสมควรต้องมีการเกณฑ์ทหารอยู่
.
2. “ระบบเกณฑ์ทหารปัจจุบัน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ”
.
ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก เพราะคนที่เกิดในครอบครัวที่พอมีฐานะ สามารถเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย เลือกเรียนวิชารักษาดินแดน (รด.) ได้ หรือบางคนที่จับได้ใบดำ ก็อาจไม่ใช่เพราะมีโชคช่วย
.
กลายเป็นว่าคนที่ต้องแบกรับภาระนี้ คือคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อย ส่วนคนรวย มีเส้นสาย มีโอกาสรอดมากกว่า
.
ความเหลื่อมล้ำอีกส่วนเกิดขึ้นในค่ายทหาร ซึ่งกลับไปที่เรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพ เพราะพลทหารยศล่างสุดต้องใช้เวลานานมากเพื่อจะไต่ลำดับขึ้นไป
.
หากคุณเริ่มต้นจากการเป็นทหารเกณฑ์ เวลาในการไต่ลำดับจะมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ตำแหน่งนายพลหรือผู้บัญชาการทหารบก จึงเป็นโอกาสของคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยเท่านั้น
.
3. “การเกณฑ์ทหาร ทำให้กองทัพไม่เอาจริงกับเรื่องความรุนแรง และ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในค่าย”
.
ความจริงแล้ว กองทัพต้องเอาจริงเอาจังกับความรุนแรง ไม่ว่าจะต่อทหารที่ถูกเกณฑ์ หรือ ทหารที่สมัครใจเข้าไป (เช่น กรณีข่าวการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” ที่เป็นนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่สมัครใจเข้าไปเป็นทหาร)
.
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในค่าย และเพื่อแสดงความจริงใจในความต้องการแก้ไขปัญหานี้ กองทัพควรมี “ความโปร่งใส” มากกว่านี้ ผ่านกลไกต่างๆ ที่เราเคยเห็นว่ามีการใช้อย่างประสบความสําเร็จในต่างประเทศ เช่น
.
(i) จัดตั้งผู้ตรวจการกองทัพ (Military ombudsman) ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภา ดำเนินการสืบสวนข้อค้นพบเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร และรับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพลโดยตรง
.
(ii) ปฏิรูปหลักสูตร จปร. และ จัดหลักสูตรอบรมและฝึกฝนบุคลากรทหารเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อลดความรุนแรงทั้งทางร่างกาย (เช่น การธำรงวินัยที่นำมาสู่อันตรายต่อร่างกาย) และ ทางจิตใจ (เช่น การโจมตีทางวาจากับบุคคลเพศทางเลือก)
.
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการเกณฑ์ทหารยังคงเป็นอีกกลไกสำคัญในการแก้ปัญหานี้
.
ตราบใดที่ยังมีการเกณฑ์อยู่ กองทัพก็อาจปล่อยให้ปัญหาคงอยู่ต่อไปได้ (เช่นเดียวกับที่เราเห็นในวันนี้) เพราะหากจำนวนคนสมัครมีน้อย ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายมาบังคับให้ตัวเองมีคนเข้ามาทำงานตามยอดที่เรียกได้
.
แต่ถ้าไม่มีการเกณฑ์ และยอดสมัครไม่ถึงจำนวนที่ตั้งไว้ กองทัพก็จะมีคนไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปตัวเองจากภายใน เพื่อให้มียอดสมัครที่สูงขึ้น ด้วยการทำให้การเป็นทหารมิใช่เพียง “หน้าที่ของชายไทย” แต่ต้องเป็นอาชีพที่น่าดึงดูดและปราศจากความรุนแรงจากภายในค่ายเอง
.
ไม่มีใครพอใจที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้แบบปีต่อปี หากชาติคือประชาชน ผมหวังว่ากองทัพบกในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่ใช้เงินภาษี จะได้แสดง “ความรักชาติ” นั้น ผ่านการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องโดยเร็วที่สุด
.
ผมเชื่อว่าการ #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
.
ไม่ว่าจะเป็น “ประชาชน” ที่ต้องการเป็นทหาร ที่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัยและดีขึ้นในค่าย
.
ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่ต้องการประกอบอาชีพอื่น ที่สามารถเลือกเดินตามความฝันของตัวเอง สร้างรายได้ให้ครอบครัว และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้
.
ไม่ว่าจะเป็น “ประเทศ” ที่ยังคงมั่นคงเหมือนเดิมและสามารถรับมือกับภัยคุกคามในอนาคตได้อย่างเท่าทัน แต่มีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมขึ้นกว่าเดิม
.
หรือไม่ว่าจะเป็น “กองทัพ” เอง ที่จะหลุดพ้นข้อครหา “สถาบันอำนาจนิยม” ไปสู่ “กองทัพยุคใหม่” ที่แม้เล็กลงด้วยขนาด แต่แข็งแกร่งด้วยประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยบุคลากรที่สมัครใจทำงานและพร้อมทุ่มเทให้องค์กรอย่างแท้จริง”

 

[อีกกี่ชีวิตต้องสูญเสีย อีกนานแค่ไหนกว่ากองทัพจะเปิดทาง #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร]
.
ลำพังการสูญเสียบุคลากรของประเทศ…

โพสต์โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu เมื่อ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2020

ชาวเน็ตฉงน ทำไมมี ทหารเกณฑ์ตาย 3 นาย ในสัปดาห์เดียว

Advertisements

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button