กิจการผ่อนปรนระยะที่ 3 มีอะไรบ้าง ศบค.เป็นผู้กำหนด
โฆษก ศบค. ยืนยันศบค.เป็นผู้กำหนดกิจการ/กิจกรรมสำหรับการผ่อนคลายมาตรการระยะ 3 แนะผู้ประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงสร้างความมั่นใจ ย้ำประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการก่อน-หลังการรับบริการ
ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงาน เวลา 11.30 น. ณ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเชียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปของกิจกรรม/กิจการที่จะเปิดให้บริการสำหรับการผ่อนคลายมาตรการในระยะ 3 -4 เพราะต้องผ่านการหารือในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้
กิจการ/กิจกรรมที่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้นได้แก่ กลุ่มห้างสรรพสินค้า กลุ่มกีฬาบางประเภท รวมถึงอาจจะมีการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งผู้ประกอบการยังจำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” รวมถึงผู้ที่จะเข้าใช้บริการ ต้องให้ความร่วมมือในการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตามเจ้าของกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต้องมีแนวทางวิธีการให้ประชาชนมั่นใจในการเข้าใช้บริการ ขณะที่ประชาชนต้องยอมรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังการเข้ารับบริการด้วย
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของ State Quarantine แต่ยังคงตรวจหาเชื้อเพิ่มเติมในประชาชนกลุ่มเสี่ยง/สถานที่เสี่ยงใน 4 กลุ่ม ดังนี้
1.บุคลากรทางการแพทย์
2. กลุ่มผู้ต้องขังแรกรับ
3. กลุ่มอาชีพพบปะผู้คนจำนวนมาก
และ 4. กลุ่มอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง บุคคลกลุ่มชุมชนแออัด บุคคลในโรงงาน บุคคลในศูนย์พักพิง เจ้าหน้าที่ในเรือนจำ บุคคลในร้านอาหารและบุคคลในโรงเรียน ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันโรค เพิ่มการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อโควิด-19
สำหรับคนไทยที่แจ้งความประสงค์ในการเดินทางกลับมายังประเทศผ่านทางอากาศ ในช่วงวันที่ 17 พ.ค. – 30 มิ.ย. มี10,878 ราย ขณะที่ความสามารถในการรองรับของพื้นที่ State Quarantine ขณะนี้อยู่ที่ 400 คนต่อวัน จึงต้องจัดกำหนดเกณฑ์แบ่งเป็นกรณีด่วนที่สุดได้แก่ กลุ่มของผู้ป่วย ผู้ตกค้างในสนามบิน และวีซ่าหมดอายุ ถัดมาเป็นกลุ่มด่วนมากได้แก่ พระสงฆ์ นักเรียน/นักศึกษาและผู้ตกงาน
โดยช่วงท้ายโฆษก ศบค. ยังเน้นย้ำการใส่หน้ากากอนามัยนอกจากจะดูแลป้องกันชีวิตของตนเองและครอบครัวแล้วยังรวมไปถึงการช่วยชาติให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 นี้ ได้อีกด้วย