สพฐ.ชี้หากโควิด-19 คลี่คลายให้เรียนใน ร.ร.ปกติแทนการเรียนออนไลน์
สพฐ.ชี้หากโควิด-19 คลี่คลายให้เรียนใน ร.ร.ปกติแทนการเรียนออนไลน์
ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการอบรมผ่านระบบทางไกล เรื่องการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อชี้แจงแนวทางในการจัดการเรียนการสอนทางไกลและเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 แต่ละหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มากที่สุด ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)นั้น ได้มีการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม (7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563) ได้สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน รวมถึงขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทาง ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอน โดยครูต้นแบบ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรวบรวมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ใน OBEC Content Center ชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น Tutor ติวฟรี.com, e-Book เป็นต้น รวมถึงเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับระบบ Digital e-Learning ของกระทรวงศึกษาธิการ
ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563) จะทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ในระดับปฐมวัยเน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกล จากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา และประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564) ได้วางแผนไว้สำหรับ 2 สถานการณ์ นั่นคือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา และสถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
และ ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564) จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นั่นคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS GAT PAT) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
นอกจากการเตรียมความพร้อมในเรื่องสื่ออุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนทางไกล ในส่วนของการเตรียมความพร้อมสำหรับครู ทางสพฐ.ก็จะมีการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับการเรียนการสอนทางไกล โดยจัดทำคู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือ เทคนิคและวิธีการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านช่องทาง DLTV และ OBEC Channel และมีการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนทางไกลด้วย
“สพฐ. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 อย่างดีที่สุด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ได้กล่าวว่า โรงเรียนอาจหยุดได้แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้ ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะรุนแรงแค่ไหน การเรียนรู้ที่เข้าถึงและมีคุณภาพสำหรับเด็กไทยทุกคนคือเป้าหมายสูงสุดตามแนวคิด “การเรียนรู้นำการศึกษา” โดยจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคน ให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ก็ให้ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งตัดสินใจนโยบายต่างๆ บนพื้นฐานของการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ครู และโรงเรียน นำมาปรับปฏิทินการศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนเพื่อรู้ของเด็กมากขึ้น นอกจากนั้นบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ นายอำนาจ ได้ย้ำว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันของกรมควบคุมโรค แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็จะจัดการเรียนการสอนผ่านระบบทางไกล สำหรับช่องทีวีดิจิทัลเพื่อการศึกษาที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. จำนวน 17 ช่องนั้น จะมีการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ต่อไป