รฟม.เตรียมเสิร์ฟ ‘แทรมภูเก็ต’ สายแรกของต่างจังหวัด
ในสัปดาห์นี้ ‘แทรมภูเก็ต’ รถไฟฟ้าสายแรกของต่างจังหวัด ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กำลังเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติรายงาน PPP การร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนหากได้ไฟเขียว พร้อมเปิดประมูลต้นปี 63
ล่าสุด รฟม. และกรมทางหลวงเจรจาได้ข้อสรุปลงตัวแล้ว ทำให้โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต หรือรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) กลายเป็นโปรเจ็กท์รถไฟฟ้าในต่างจังหวัดที่มีความคืบหน้ามากที่สุด โดยมีแผนก่อสร้างระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร (กม.) ก่อน
ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบของรถไฟฟ้าใน 5 จังหวัดเสร็จเรียบร้อยแล้วประกอบด้วย จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และ จ.สงขลา พร้อมส่งต่อให้รฟม. ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมรวมทั้งพิจารณารูปแบบการลงทุน โดย รฟม. เริ่มศึกษารถไฟฟ้ารางเบาหรือแทรมภูเก็ตเป็นสายแรก
ขณะนี้ รฟม. ได้จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 หรือ PPP เสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม., กระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอน หากได้รับอนุมัติในหลักการ โดยคาดว่าต้นปี 63 จะประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการได้ และวางแผนเริ่มก่อสร้างภายในปี 63 ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง และจะเปิดให้บริการปี 67
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า จากที่กรมทางหลวง (ทล.) เจ้าของพื้นที่มีข้อกังวลเรื่องการแชร์เลนถนนระหว่างแทรมกับรถยนต์เพราะกังวลปัญหาจราจรและเรื่องอุบัติเหตุนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยต้องปรับต้นทุนโครงการเพิ่มกว่า 3 พันล้านบาท รวมวงเงินลงทุนกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท และจะปรับแบบบริเวณแยกบางคู และแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นอุโมงค์ทางลอดใต้ดินสำหรับแทรมส่วนบริเวณแยกสนามบินภูเก็ต จะทำเป็นทางยกระดับข้ามแยกหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด จากเดิมที่จะใช้เลนร่วมกัน โดยการสร้างอุโมงค์ทางลอดใต้ดินนั้น ไม่มีความยุ่งยาก เพราะไม่ได้อยู่ในเขตเมืองเก่าที่ต้องสำรวจทางโบราณคดีก่อน
เบื้องต้นการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการปลายปี 67 ถือเป็นรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดเส้นทางแรกของ รฟม. อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอของประชาชนที่ต้องการให้สร้างส่วนต่อขยายแทรมภูเก็ตไปถึง อ.กระทู้ และต่อไปถึงบริเวณเมืองป่าตองนั้น ในส่วนนี้จะอยู่ในเฟส 2 ซึ่งตอนนี้ต้องทำเฟส 1 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักให้เสร็จก่อน จากนั้นจึงจะสามารถต่อไปยังเส้นทางรองได้
ส่วนแนวเส้นทางโครงการฯ นั้น เริ่มจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวงหมายเลข 4031 (แยกศาลาแดง-แยกหมากปรก) เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4036 (แยกเหนือคลอง-แหลมกรวด) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 (โคกกลอย-เมืองภูเก็ต) เพื่อเข้าเมืองภูเก็ต จากนั้นผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร ข้ามสะพานสารสิน มุ่งหน้าสถานีปลายทางท่าเรือฉลอง โดยคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 7 หมื่นคนต่อวัน และจะเพิ่มเป็นเฉลี่ย 1.14 แสนคนต่อวันในปี 94
ที่มา เดลินิวส์