หนิง ปณิตา และสามีขอโทษตำรวจ แจงที่มารถมาเซราติ
หนิง ปณิตา และสามีขอโทษตำรวจ แจงที่มารถมาเซราติ
วันที่ 24 ตุลาคม หนิง ปณิตา ธรรมวัฒนะ และสามี จรินทร์ ธรรมวัฒนะ ได้เดินทางมาที่สน.วิภาวดี และเข้าพบ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. เพื่อนำเอกสารเกี่ยวกับรถมาเซราติ มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ นอกจากนี้ทั้ง 2 ยังขอโทษส.ต.ท.ธีรพงษ์ ขาบจันทึก ผบ.หมู่งานศูนย์ควบคุมจราจรวิภาดีฯ-รังสิต กก.2 บก.จร. เจ้าหน้าที่ที่สาวหนิงกล่าวโทษ
หนิงบอกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ขอโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจจากใจจริง เราคิดเร็วพูดเร็ว ก่อนหน้านี้ไม่สะดวกเข้าพบตำรวจเอง เนื่องจากติดทำงาน จึงให้สามีมาแทน ไม่ได้ละเลย เพราะสิ่งที่กระทำนั้นไม่เหมาะสม สำหรับใครที่ผิดหวังกับตนเอง และทักเป็นการส่วนตัวเข้ามา ก็ได้ขอโทษผ่านไดเรกไอจีแล้ว
ยอมรับว่าเครียด วันนี้จึงต้องการขอโทษอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ด่าหนิงได้ แต่อย่าลามปามถึงบุพการี หรือคนใกล้ตัว เราไม่ติดใจเอาความอะไร จากนี้จะแก้ไขเรื่องความใจร้อน เพื่อตัวเอง และไม่ให้คนที่ชื่นชอบผิดหวัง และขอโทษส.ต.ท.ธีรพงษ์ ที่ทำให้ลำบากใจกับการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากนี้หนิงอยากขอโอกาสจากสังคม ถ้าทางตำรวจจราจร มีอะไรอยากจะให้ช่วยเหลือ ก็ยินดีที่จะช่วย ขอเพียงแค่ทางตำรวจบอกมา
สามีของหนิงบอกว่า รถคันนี้ซื้อมาปีกว่าแล้ว น่าจะเป็นมือที่ 2, 3, 4 ก่อนหน้านี้ใช้ทะเบียน กท191 ของเจ้าของรถเดิม เมื่อใช้มาครึ่งปี เขาจึงติดต่อมาขอทะเบียนคืน เพื่อนำไปจดทะเบียนกับรถ BMW ส่วนตนก็ทำทะเบียนของมาเซราติหาย จึงยังไม่เอาทะเบียนเดิมออก ขณะนี้แจ้งความ อยู่ระหว่างยื่นขอป้ายใหม่จากกรมการขนส่งทางบก รถคันนี้ซื้อจากโชว์รูมที่มีเพื่อนเป็นเจ้าของ และตรวจสอบประวัติแล้ว ไม่พบความผิดปกติ จึงมั่นใจและตัดสินใจซื้อมาใช้
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ในนามตำรวจสายงานจราจร ขอรับคำขอโทษจากคุณหนิงด้วยความเต็มใจ และความเข้าใจ การทำงานของตำรวจจราจรเอง เรามีความคุ้นเคยระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย และความรู้สึกส่วนตัว มั่นใจว่าตำรวจจราจรทุกนายยินดี และให้อภัยคุณหนิง บทเรียนครั้งนี้ในส่วนของตำรวจจะนำมาปรับปรุงวิธีการทำงาน โดยจะเน้นการอธิบายและชี้แจงการทำงานให้ประชาชนเข้าใจ และมั่นใจมากขึ้น หน้าที่และภาระของตำรวจถือเป็นต้นทางการบังคับใช้กฎหมายในสังคม ไม่ขึ้นอยู่กับความรัก ความชอบ และรู้สึกโกรธเกลียด
สำหรับรถยี่ห้อนี้ไม่ใช่รถที่คุ้นเคยทั่วไป จากนี้จะนำไปตรวจสอบที่กองบังคับการตำรวจจราจ (บก.จร.) เพื่อดูว่ารถยนต์เป็นอย่างไร นำเข้าถูกต้องหรือไม่ จดทะเบียน หรือปลอมแปลงอะไรหรือไม่ โดยจะมีตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมศุลกากร และกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ร่วมกันตรวจสอบ หากพบความผิดก็จะดำเนินคดีต่อไป
ส่วนส.ต.ท.ธีรพงษ์ บอกว่าไม่ติดใจอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะการทำงานก็จะมีผู้คนหลายรูปแบบ จากนี้ไปตนก็คงจำยี่ห้อรถมาเซราติได้แล้ว