เลือกตั้ง 2562 : กกต. โยน ศาลรธน. วินิจฉัยสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
เลือกตั้ง 2562 : กกต. โยน ศาลรธน. วินิจฉัยสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
วันที่ 11 เม.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ที่แต่ละพรรคจะพึงมีได้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากพบว่า วิธีการคำนวณของ กกต. ก่อนหน้านี้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รายละเอียดตามหนังสือดังนี้
1. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 91 วรรค 3 กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณและการคิดอัตราส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561 ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไว้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอผลการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ได้จัดทำวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในชั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 แล้วปรากฏว่า
การคำนวณดังกล่าวมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คนแต่เมื่อคำนวณต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561 มาตรา 128 วงเล็บ 5 แล้วพรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คนดังกล่าวสามารถได้รับการจัดสรรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
2. คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อ 1 เห็นแล้วว่า แม้การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการมานั้นสามารถจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คนซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ตามแต่การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 128 วงเล็บ 5 ดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 91 วงเล็บ 2 และวงเล็บ 4
เนื่องจากมีผลให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพึงมีได้ตามวงเล็บ 2 ต่ำกว่า 1 คนสามารถได้รับการจัดสรรให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ 1 คน ซึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 วงเล็บ 4
แต่หากคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 91 แล้วจะทำให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน ไปคิดคำนวณต่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2561 มาตรา 128 วงเล็บ 5 ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนได้ จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้จำนวน 150 คนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 83 ได้
การคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามข้อหนึ่งซึ่งเป็นการดำเนินการคิดคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ผลของการคำนวณจะไม่สามารถนำไปประกาศผลการเลือกตั้งได้เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 91 วงเล็บ 4
3. อาศัยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นจึงได้เสนอเรื่องตามข้อ 1 และข้อ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 210 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ. ศ. 2561 มาตรา 7 วรรค 1 วงเล็บ 1 และวงเล็บ 2 ว่า กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งจะคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้
มีเพียงการคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561 ที่สามารถจะคำนวณให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้
ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งจะคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561 มาตรา 128 โดยการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนได้ จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนคณะกรรมการการเลือกตั้งจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 91 หรือไม่