ข่าว

ย้อนรอย ปะทะเดือด ไทย-กัมพูชา ปี 54 ปมพื้นที่พิพาท เขาพระวิหาร

ย้อนเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างไทย-กัมพูชาในปี 2554 ทั้งสมรภูมิเขาพระวิหารและปราสาทตาควาย-ตาเมือนธม ซึ่งนำไปสู่การสูญเสีย และการยื่นเรื่องต่อศาลโลก

ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจทำให้หลายคนหวนนึกถึงเหตุการณ์การปะทะกันด้วยกำลังทหารครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย แต่เป็นการสู้รบที่กินเวลายาวนานหลายเดือน ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนหลายจังหวัด และนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของทหารและพลเรือนทั้งสองฝ่าย ก่อนที่สมรภูมิร้อนจะนำไปสู่การต่อสู้ในเวทีการทูต และกฎหมายระหว่างประเทศในท้ายที่สุด

สมรภูมิเขาพระวิหาร ระลอกแรก

ชนวนเหตุความขัดแย้งรอบใหม่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณพื้นที่พิพาทใกล้ปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ การปะทะกันนานหลายชั่วโมงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย สถานการณ์ลุกลามอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศว่าฝ่ายไทยได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตอบโต้เข้าไปในฝั่งกัมพูชาอย่างหนักหน่วง สร้างความเสียหายให้กับฐานทหาร และยุทโธปกรณ์ของกัมพูชาเป็นวงกว้าง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทางการไทยต้องประกาศให้หลายหมู่บ้านใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ขณะที่ในเวทีการทูต รัฐบาลกัมพูชาได้พยายามเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เข้ามาแทรกแซง แต่ถูกปฏิเสธ โดย UNSC แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหากันในระดับภูมิภาค แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงในระดับพื้นที่ แต่การปะทะก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ

การปะทะกันด้วยกำลังทหารระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน ปี 2554
ภาพจาก: FB/ รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์

 

สมรภูมิปราสาทตาควาย-ตาเมือนธม ระลอกสอง

หลังจากสถานการณ์บริเวณเขาพระวิหารเริ่มสงบลง สมรภูมิรบได้ย้ายมาปะทุขึ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงในวันที่ 22 เมษายน 2554 แต่คราวนี้เป็นพื้นที่ชายแดน จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ บริเวณกลุ่มปราสาทตาควายและปราสาทตาเมือนธม การสู้รบในระลอกนี้มีความรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 วัน ส่งผลให้ทหารไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบนาย และต้องมีการอพยพประชาชนหลายพันคนใน อ.พนมดงรัก กาบเชิง ปราสาท ของ จ.สุรินทร์ และ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถูกประกาศ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภาวะสงคราม

ท่าทีของฝ่ายไทยในขณะนั้นแข็งกร้าวอย่างยิ่ง พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้แถลงว่าหากชาติไทยถูกลุกล้ำก็พร้อมที่จะใช้กำลังตอบโต้จนถึงที่สุด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหนังสือประท้วงอย่างรุนแรงและประกาศทบทวนนโยบายต่างประเทศกับกัมพูชาทั้งหมด

การใช้ ระเบิดลูกปราย และการยื่นฟ้องศาลโลก

ในระหว่างการสู้รบนั้น ได้เกิดประเด็นที่น่าสนใจในระดับนานาชาติขึ้น 2 ประการ คือการที่ทางการไทยออกมายอมรับว่าได้มีการใช้ กระสุนระเบิดทวิประสงค์ (DPICM) ซึ่งถือเป็น “ระเบิดลูกปราย” ประเภทหนึ่ง และอีกประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ในวันที่ 28 เมษายน 2554 ประเทศกัมพูชาได้ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เพื่อขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 และขอให้ศาลฯออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยเร่งด่วน

การปะทะกันด้วยอาวุธได้ยุติลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2554 แต่ความขัดแย้งไม่ได้จบสิ้นลง การยื่นเรื่องต่อศาลโลกของกัมพูชาได้เปลี่ยนรูปแบบของความขัดแย้งจาก “สมรภูมิร้อน” ที่ใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นกัน มาสู่ “สมรภูมิทางกฎหมาย” ที่ต่อสู้กันด้วยหลักฐานและกระบวนการทางการทูตในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งผลพวงจากคำตัดสินของศาลโลกในเวลาต่อมา ยังคงเป็นมรดกที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชามาจนถึงทุกวันนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Suriyen J.

นักเขียนบทความข่าว จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาปรัชญาและศาสนา มีประสบการณ์กับสำนักข่าวระดับประเทศ ชื่นชอบด้านสังคม การเมือง ต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างคุณค่าผ่านงานเขียน เพื่อให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ครบทุกมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx