ผวา ปลาติดเชื้อแผลขึ้นทั้งตัว แม่น้ำกกทำพิษ ชาวบ้านรายได้หด จี้รัฐหาต้นตอ

ชาวบ้านผวา ปลาติดเชื้อในแม่น้ำกก-โขงเป็นแผลทั้งตัว ขายไม่ได้-รายได้หดหาย ผลตรวจสารโลหะหนัก 3 ครั้งไม่เกินเกณฑ์ จี้รัฐสอบสวน ตรวจสอบต้นตอ
สถานการณ์ภาคเหนือน่าห่วง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ออกมาเปิดเผยภาพและข้อมูลสุดสยองของ ‘ปลาติดเชื้อ’ ที่มีตุ่มและแผลพุพองทั่วทั้งตัวถูกพบเป็นจำนวนมากในแม่น้ำสายหลัก ทั้งแม่น้ำกก, แม่น้ำสาย, แม่น้ำรวก ลามไปถึงแม่น้ำโขงตอนเหนือในจังหวัดเชียงราย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและรายได้ของชาวประมงในพื้นที่ ขณะนี้ไม่สามารถขายปลาได้เลยแม้แต่ตัวเดียว ล่าสุด มีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจปนเปื้อนสารพิษจากเหมืองแห่งหนึ่ง
นายบุญสุข สุวรรณดี ชาวประมงจากบ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ด้วยความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า “ปัญหาแม่น้ำมีสารพิษ อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานเข้ามาช่วยชาวประมงเราเดือดร้อนกันทุกคนเลย แม่ค้าที่มารับซื้อปลาเขาไม่ซื้อเลยตอนนี้เขาปิดโทรศัพท์หนีไม่ยอมซื้อปลา พบปลาติดเชื้อในปลากดและปลาแข้ตัวขนาดเล็ก ชาวบ้านสบคำ ทุกหลังคาหากินกับแม่น้ำ ทั้งในแม่น้ำคำ แม่น้ำกก และแม่น้ำโขง น้ำรวกก็เข้าไปหา
รวมถึงข้ามเขตแดนไปหาปลาทางฝั่งลาวก็มี เพราะชาวบ้านต้องอาศัยทำมาหากินอยู่กับแม่น้ำ ต้องอาศัยพึ่งพาแม่น้ำ ถ้าไม่มีแม่น้ำก็ไม่มีอาหารการกิน ผลกระทบตอนนี้ไม่มีใครมาซื้อปลาเลย แม่ค้าก็ไม่มีเลย อยากให้หน่วยงานมาช่วยเหลือ ตอนนี้ชาวประมงต้องไปหาจับปลาในหนอง ในหลง ตอนนี้อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาดูแลพัฒนาแหล่งน้ำ หรือนำปลามาปล่อยให้ชาวบ้านได้มีปลากิน ได้บริโภค ได้มีแหล่งอาหารสำรองแทนปลาในแม่น้ำสายหลัก”

ทาง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้มีการเก็บตัวอย่างปลาไปส่งตรวจหาสารโลหะหนัก โดยผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการกลางจังหวัดเชียงใหม่ กรมประมงเป็นผู้ส่งตรวจ 3 ครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2568 พบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจริง แม้ระดับที่พบจะยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดก็ตาม
ครั้งที่ 1 (11 เม.ย. 68) หลังฝายเชียงราย พบสารหนู 0.013 mg/kg และสารปรอท (Hg) 0.09 mg/kg
ครั้งที่ 2 (28 เม.ย. 68) แม่น้ำโขง อ.เชียงแสน พบสารปรอท (Hg) 0.14 mg/kg และสารตะกั่ว (Pb) 0.05 mg/kg
ครั้งที่ 3 (1-2 พ.ค. 68)
- จุดที่ 1 โป่งนาคำ : ปลากินเนื้อมีสารปรอท (Hg) 0.054 mg/kg และสารตะกั่ว (Pb) 0.11 mg/kg
- จุดที่ 2 ฝายเชียงราย : ปลากินเนื้อมีสารปรอท (Hg) 0.089 mg/kg
- จุดที่ 3 แม่น้ำกก ต.เวียง อ.เชียงแสน : ปลากินเนื้อมีสารปรอท (Hg) 0.13 mg/kg
แม้ว่าผลการตรวจสอบจะระบุว่าปริมาณสารปนเปื้อนยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่สภาพของปลาที่ติดเชื้อรุนแรงและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งยังทำให้ไม่มีรายได้อีกด้วย

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ยืนยันว่าจะเดินหน้าติดตามสถานการณ์นี้ต่อไป เผยว่า “สถานการณ์ปลา ณ ตอนนี้เราก็ยังพบปลาที่มีลักษณะการติดเชื้ออยู่ เราได้ติดตามเพื่อนำปลาไปตรวจ หากพบว่าปลาที่พบมีสารพิษในตัวปลาก็สันนิษฐานได้ว่ามาจากเหมือง ตอนนี้สถานการณ์ปลาได้กระจายไปถึงแม่น้ำโขงแล้ว ตอนนี้เราพบปลาที่มีความผิดปกติภายนอกหลังจากนี้เราจะส่งเข้าสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาสาเหตุและการวิเคราะห์สารปนเปื้อน ตอนนี้ทั้งลุ่มน้ำโขงเหนือยืนยันได้แล้วว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็จะนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในอนาคต ในการเรียกร้องปิดเหมือง”
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ กำลังเร่งรวบรวมข้อมูลผลกระทบและเก็บตัวอย่างปลาจากหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งตรวจสอบในเชิงวิทยาศาสตร์ และเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาตรวจสอบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ปลาจุกเครื่อง” ดราม่าเมนูประจำถิ่น แต่คนท้องที่ไม่รู้จัก คนกระบี่แย้งหลอกลวงนักท่องเที่ยว
- คนพื้นที่งง “ปลาจุกเครื่อง” หากินได้ที่ไหน หลังประกาศว่าเป็นเมนูประจำถิ่นกระบี่
- ลูกชิ้นเนื้อตัวเงินตัวทอง ตำรวจคอนเฟิร์มแล้ว ส่งไปทำลูกชิ้นปลาจริงไหม
ติดตาม The Thaiger บน Google News: