ข่าว

สมรภูมิช่องบก อยู่ที่ไหน ทำไมเป็นข้อพิพาทชายแดน ไทย-กัมพูชา ปะทะไม่สิ้นสุด

ช่องบก อยู่ที่ไหน? ทำไมกลายเป็น แดนเดือด ไทย-กัมพูชา ปะทะซ้ำซาก ชาวบ้านผวาไม่สิ้นสุด หลังทหารเขมรตั้งฐานรุกล้ำ รอง ผบ.กองกำลังสุรนารีต่อสายตรง พล.ต. ทล โซะวัน สกัดบานปลาย

ช่องบก คือจุดยุทธศาสตร์ชายแดนไทย-กัมพูชา บนเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ติดกับจังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบกับปัญหาการปักปันเขตแดนที่ไม่ชัดเจนในอดีต ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแดนเดือด ที่เกิดเหตุปะทะกันอยู่บ่อยครั้ง สร้างความหวาดผวาให้ชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ช่องบก ต้นตอความขัดแย้ง สนธิสัญญาเก่า-แผนที่มั่ว

ปมขัดแย้งที่ช่องบกมันหยั่งรากลึก ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในยุคที่สยาม (ประเทศไทยในขณะนั้น) ต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตกอย่างฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา ได้มีการจัดทำสนธิสัญญาหลายฉบับเพื่อกำหนดแนวพรมแดน

ปัญหาคือ แผนที่ที่ใช้ในการปักปันเขตแดนในยุคนั้นมันไม่เป๊ะ ทั้งขาดความแม่นยำ และหลายฉบับก็ไม่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ กลายเป็นเหมือน แผนที่ลายแทงปริศนา ที่ทั้งสองประเทศต่างก็หยิบยกขึ้นมาอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน กลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ตกทอดและพร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อจนถึงปัจจุบัน

ป้ายบอกอาณาเขตประเทศกัมพูชาบริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

สถานการณ์ปัจจุบัน ทหารเขมรเคลื่อนพลตั้งฐาน ยั่วทัพไทย?

สถานการณ์ในพื้นที่ช่องบกจึงมักจะทวีความตึงเครียดขึ้น เมื่อมีรายงานการเคลื่อนย้ายกำลังทหารและการเสริมสร้างที่มั่นของฝ่ายกัมพูชาในบริเวณที่ฝ่ายไทยก็อ้างสิทธิ์อยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขุดคูสนามเพลาะ การสร้างฐานปฏิบัติการที่ดูมั่นคงแข็งแรง

ในมุมมองของทางการไทยถือว่าเป็นการกระทำที่ ยั่วยุละเมิดอธิปไตย และขัดต่อข้อตกลงที่มีอยู่ระหว่างสองประเทศ เหตุการณ์เหล่านี้มักนำไปสู่การเผชิญหน้า และบางครั้งก็เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายเป็นระยะ ๆ

ประกอบกับกระบวนการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและยังไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจนได้เสียที ยิ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่ช่องบกยังคงยืดเยื้อคาราคาซัง

แผนที่พรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

ชาวบ้านชายแดน ชีวิตบนเส้นด้าย รอวันสันติภาพ

แล้วใครคือผู้ที่เดือดร้อนที่สุดจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้? คำตอบก็คือ ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นตาดำ ๆ ที่อาศัยทำกินอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนช่องบกนี่เอง

ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาต้องแขวนอยู่บนเส้นด้าย เผชิญกับความไม่ปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน การค้าขาย การเดินทางข้ามแดน ได้รับผลกระทบอย่างหนักทุกครั้งเมื่อมีการปิดด่านชายแดน หรือมีการประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่พิพาท

การแก้ไขปัญหาที่ช่องบกจึงไม่ใช่แค่เรื่องของทหารหรือรัฐบาล แต่คือเรื่องปากท้องและความสงบสุขของประชาชน การจะดับไฟที่ช่องบกได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ในการเร่งรัดกระบวนการเจรจาเพื่อขีดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย

ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือในระดับชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ และลดความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้ให้กลับมาสงบสุขได้อย่างยั่งยืนเสียที

เขตปลอดทหารชั่วคราว ตามคำสั่งศาลฯ
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

ช่องบกเดือด! ไทย-เขมรปะทะเช้ามืด คุย 10 นาทีสงบ

สถานการณ์บริเวณชายแดนช่องบก อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งในช่วงเช้ามืดของวันนี้ 28 พฤษภาคม 2568 เมื่อกำลังทหารไทยและกัมพูชาเกิดการเผชิญหน้ากันจนนำไปสู่การปะทะขึ้นเล็กน้อย

โชคดีที่เหตุการณ์ยุติลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 10 นาที หลังผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทั้งสองฝ่ายได้เปิดการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์ทันที ทำให้ไม่บานปลายและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

ชนวนเหตุของความตึงเครียดครั้งล่าสุดนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 05.45 นาฬิกา เมื่อฝ่ายไทยตรวจพบการเคลื่อนกำลังและการเตรียมพื้นที่ของทหารกัมพูชาในลักษณะของการจัดตั้งจุดตรึงกำลังขึ้นใหม่ ในพื้นที่ซึ่งฝ่ายไทยอ้างกรรมสิทธิ์และถือว่าอาจเป็นการละเมิดข้อตกลงเดิมที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันในการรักษาสภาพเดิมของพื้นที่พิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายไทยจึงได้จัดกำลังทหารเข้าทำการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว นำไปสู่การเผชิญหน้าและความเข้าใจคลาดเคลื่อนในระดับปฏิบัติการภาคสนามจนเกิดการปะทะขึ้น

ภูมิประเทศ ช่องปก
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดการปะทะขึ้นได้ไม่นาน สถานการณ์ก็คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ พลตรี ทล โซะวัน รองผู้บัญชาการกองพลสนับสนุนที่ 3 ของกัมพูชา ได้ติดต่อประสานงานผ่านทางโทรศัพท์มายังรองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีของฝ่ายไทย ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงทำความเข้าใจและยุติเหตุการณ์ปะทะดังกล่าวได้สำเร็จภายในเวลาประมาณ 05.55 นาฬิกา นับเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : วิกิพีเดีย

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx