ข่าวการเมือง

“ปิยบุตร” ไม่เห็นด้วยคำตัดสินศาลปกครอง สั่ง “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้คดีจำนำข้าว

ปิยบุตร โพสต์ไม่เห็นด้วยคำตัดสินศาลปกครอง สั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้คดีจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท มองไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย มีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้กรณีจำนำข้าว 10,028 ล้านบาท ตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้ ว่าไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว

โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า “22 พฤษภาคม 2568 ครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 160-163/2568 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 พิพากษาเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นบางส่วน และแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น สรุปความได้ว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี 2554-2557) ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว จำนวน 10,028,861,880.83 บาท (“ประมาณ 10,029 ล้านบาท”)

โดยศาลพิจารณาและให้เหตุผลประกอบ ดังนี้

1. ศาลแบ่งแยกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ส่วนที่สอง การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย

โดยศาลเห็นว่า ในส่วนแรกนั้นเป็นการดำเนินในระดับนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องทางการเมือง ต้องถูกตรวจสอบโดยการตั้งกระทู้ถามหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนแรกนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดทางละเมิดแต่อย่างใด ในส่วนที่สอง เป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อให้นโยบายรับจำนำข้าวบรรลุผล ซึ่งถือเป็น “การกระทำทางปกครอง” ไม่ใช่การดำเนินการในส่วนนโยบาย จึงถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อันอาจมีความรับผิดทางละเมิดได้ (ดูคำพิพากษา หน้า 109-113)

2. ส.ต.ง.และ ป.ป.ช. ได้แจ้งผลการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรี “สอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อไปด้วย” แต่นายกรัฐมนตรีมิได้ดำเนินการใดๆ

แม้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะอนุกรรมการแล้ว “แต่ก็มิได้ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลการดำเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช.หรือไม่” และยังมีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกล่าวหาและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทจริตในการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)

จึงถือว่า นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ “ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลว่า มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน” แต่ก็มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่

จึงเป็นกรณีที่ “ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด” แต่กลับปล่อยให้ดำเนินโครงการต่อไป จึงถือได้ว่า “ปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริตได้โดยง่าย” เป็นการที่คุณยิ่งลักษณ์ ละเมิดต่อกระทรวงการคลัง ทำให้ได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 (ดูคำพิพากษา หน้า 121)

3. ศาลอธิบายว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือก มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2.การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษา 3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร 4. การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)

ศาลเห็นว่าในสามขั้นตอนแรก ซึ่งเป็นขั้นตอนในการจำนำข้าวเปลือกนั้น แม้มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่พฤติการณ์ของการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย คุณยิ่งลักษณ์จึง “ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557” (ดูคำพิพากษา หน้า 122)

4. ศาลเห็นว่า ในขั้นตอนที่ 4 การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่มีการทุจริตเกิดขึ้นนั้น คุณยิ่งลักษณ์ได้รับทราบปัญหา “แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้อย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าวตามสัญญาซื้อขายกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใกล้ชิด” ประกอบกับ คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุมเพียงครั้งเดียว จึงเห็นได้ว่า “ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบ”

ศาลเห็นว่า โดยวิสัย คุณยิ่งลักษณ์ต้องเล็งเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว จึงควรพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏในหนังสือทักท้วงของหน่วยงานตรวจสอบ แต่กลับเพิกเฉย จนมีการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่วนนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ดูคำพิพากษา หน้า 123)

5. ศาลนำความเสียหายจากสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับที่มีปัญหาการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มาพิจารณากำหนดค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท (ประมาณ 20,058 ล้านบาท) (ดูคำพิพากษาหน้า 124-125)

6. ศาลเห็นว่า พิจารณาจากระดับความร้ายแรงของการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว ไม่เห็นควรที่จะหักส่วนแห่งความรับผิด (ดูคำพิพากษา หน้า 125-126)

7. ศาลเห็นว่า กรณีนี้ ความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีผู้กระทำละเมิดหลายคน ต้องหักส่วนความรับผิดของแต่ละคนออก โดยศาลกำหนดให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดจำนวน 10,028,861,880.83 บาท (“ประมาณ 10,029 ล้านบาท”) หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนมูลค่าความเสียหาย (ดูคำพิพากษา หน้า 127)

ผมขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ดังนี้

1. การดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากคุณยิ่งลักษณ์ ในความเสียหายที่เกิดจากโครงการจำนำข้าว ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ไปจนถึงการออกคำสั่งของกระทรวงการคลังในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางนั้น มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นกลางของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง จนทำให้องค์กรผู้ใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเรียกค่าสินไหมทดแทนมีความเป็นปฏิปักษ์กับคู่กรณี

2. การพิจารณาว่า “เจ้าหน้าที่” ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่รัฐหรือหน่วยงานหรือไม่ ต้องพิจารณาจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับ ป.พ.พ.มาตรา 420 เรื่องละเมิด ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ 1. เจ้าหน้าที่กระทำหรือละเว้นการกระทำ 2. การกระทำหรือละเว้นการกระทำนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 3. มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่หน่วยงาน 4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำหรือละเว้นการกระทำกับความเสียหายที่เกิดขึ้น (causation)

ในส่วนที่เป็นการตัดสินใจทางนโยบายว่าจะดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลเห็นว่าในส่วนนี้เป็นการกระทำทางการเมืองโดยแท้ เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง ผ่านกระบวนการตรวจสอบทางการเมือง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตั้งกระทู้ถาม ไม่ใช่เป็นการกระทำทางปกครอง ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง ไม่ได้กระทำการในฐานะ “เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายปกครอง ไม่อยู่ในขอบเขตความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในส่วนนี้ ผมเห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุด

แต่ในส่วนของกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามนโยบาย และใช้อำนาจในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการ กขช. ซึ่งถือเป็น “เจ้าหน้าที่” ตามกฎหมายปกครองนั้น ศาลเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ในส่วนนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุด เพราะ การระบายข้าวแบบ G to G เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์และการปฏิบัติในระดับเจ้าหน้าที่ ในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในระดับนโยบาย และนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์

3. ในคดีนี้ประเด็นพิพาท คือ คำสั่งของกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,717,273,715.23 บาท (ประมาณ 35,717 ล้านบาท) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ วัตถุแห่งคดีที่ต้องพิจารณาคือ “คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559”

ในการพิจารณาออกคำสั่งกระทรวงการคลัง 1351/2559 นั้น ยืนยันว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง ปี 2555 แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2555/2556 และปี 2556/2557 จะเห็นได้ว่า กระทรวงการคลังไม่ได้นำข้อเท็จจริงกรณีความเสียหายในปี 2554/2555 มาเป็นฐานในการออกคำสั่งกำหนดค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด

แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นำกรณีความเสียหายจากการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ตามสัญญา 4 ฉบับ ซึ่งเป็นกรณีข้าวปีการผลิต 2554/2555 (โดยข้อเท็จจริงเรื่องทุจริตนี้ปรากฏในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้อยู่ในคำสั่งกระทรวงการคลัง) มากำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้ กรณีจึงเป็นการนำข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้เป็นมูลเหตุ (ในวิชากฎหมายปกครอง เราเรียกว่า motif) ในการออกคำสั่ง มาพิจารณาว่า คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ดูความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยได้ในหน้า 170)

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ก็ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ออกมาภายหลังจากคำสั่งกระทรวงการคลังด้วย

4. ในคดีปกครองในศาลปกครองนี้ เป็นการพิจารณา ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงการคลัง และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการลงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งใช้ ป.พ.พ.มาตรา 420 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในขณะที่การพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการพิจารณาความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 และความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น มาตรวัดทางกฎหมายไม่เหมือนกัน องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายไม่เหมือนกัน ระดับความเข้มข้นของความผิดทางละเมิดกับทางอาญาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถหยิบเอาประเด็นในคดีอาญามาใช้ประกอบได้

5. การพิจารณาว่า “นายกรัฐมนตรี” เป็น “เจ้าหน้าที่” ใช้อำนาจตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาโดยยึดวัตถุประสงค์ของกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้กล้าตัดสินใจกระทำการ (ดูได้จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ) เป็นสำคัญ

หากศาลพิจารณาโดยใช้เทคนิควิธี “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ชนิดที่ว่า โยงกันตั้งแต่

[รัฐเสียหาย — เสียหายจากการทุจริต — การทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G — การระบายข้าวแบบ G to G อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ — นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ — ส.ต.ง. และ ป.ป.ช. ท้วงแล้ว สื่อลงข่าวแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ยังไม่หยุด — เป็นประธาน กขช. แต่กลับไม่เข้าประชุม ]

=

[นายกรัฐมนตรีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต]

เช่นนี้แล้วล่ะก็ ต่อไป นายกรัฐมนตรีประเทศนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เลย ไม่สามารถนำนโยบายที่รณรงค์หาเสียงมาปฏิบัติได้เลย เพราะ หากมีใครไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทักท้วงขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ต้องหยุดทันที และหากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อยากต้องรับผิด ถูกดำเนินคดี วิธีการปลอดภัยที่สุด คือ ไม่คิด ไม่เสนอสิ่งใหม่ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องเสี่ยงใดๆทั้งสิ้น ปล่อยให้ระบบราชการทำกันไปตามแต่ละวัน นายกรัฐมนตรีก็จะแปลงสภาพกลายเป็น “ปลัดประเทศ” ไปในที่สุด

ต้องไม่ลืมว่า นโยบายดีหรือไม่ดี คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ย่อมมีคนเห็นแตกต่างกัน นโยบายหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ คนอีกกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ นโยบายหนึ่ง สอดคล้องกับวิธีคิดทางสำนักเศรษฐศาสตร์ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดทางสำนักเศรษฐศาสตร์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง การประเมินว่าการดำเนินนโยบายนี้ สร้างความเสียหายให้กับรัฐ หรือเสี่ยงต่อการทุจริต ก็มีคนมองได้ต่างกัน

ดังนั้น ต้องปล่อยให้ตัดสินใจกันในทางการเมือง รับผิดชอบกันในทางการเมือง ไม่สมควรให้นักวิชาการบางกลุ่มหรือองค์กรอิสระมาเป็นดัชนีชี้วัดว่านโยบายไหนทำได้หรือทำไม่ได้ มิเช่นนั้นแล้ว ต่อไป เพียงแค่ องค์กรอิสระหรือนักวิชาการทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยและสันนิษฐานว่าอาจเกิดทุจริตได้หรือมี สส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องยุติการดำเนินนโยบายทันที สรุปแล้ว ใครเป็นรัฐบาลกันแน่?

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผมมีความเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ 30,000 กว่าล้านบาท) และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังบางส่วน และคุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้อีกประมาณ 10,029 ล้านบาท)

ผมเห็นว่า กรณีนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะ ความเสียหายที่จากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเกิดจากระดับปฏิบัติในชั้นเจ้าหน้าที่ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเว้นการกระทำ แต่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบติดตามแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปล่อยให้มีการทุจริต และความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ห่างไกลและไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของนายกรัฐมนตรี การนำความเสียหายจากการทุจริตการระบายข้าวแบบ G to G มาใช้เป็นฐานในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็นมูลฐานในการออกคำสั่งของกระทรวงการคลังมาใช้พิจารณา

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ มีตุลาการศาลปกครองสูงสุด ลงชื่อในคำพิพากษา 5 คน ได้แก่ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ (ตุลาการเจ้าของสำนวน), พงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ, สมยศ วัฒนภิรมย์, สมภพ ผ่องสว่าง, ฉัตรชัย นิติภักดิ์ (ดูคำพิพากษา หน้า 136) โดยมีตุลาการทำความเห็นแย้งใน 4 ประเด็น

ประเด็นแรก

การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ต้องหักส่วนที่เป็นความผิดของหน่วยงานหรือระบบออกไปก่อน และให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบเฉพาะ ร้อยละ 20 หลังจากหักส่วนความผิดของหน่วยงานไปแล้ว รวมแล้วให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ คือ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ (ดูคำพิพากษา หน้า 137-146)

ประเด็นที่สอง

ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยให้เหตุผลประกอบ ดังนี้

1. คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะ กรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G นั้น เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบระดับนโยบาย จากคำให้การของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ต่อคณะกรรมการฯ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีรับรู้เฉพาะในการทำ MOU แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายละเอียดของสัญญา นอกจากนี้ เมื่อเกิดประเด็นข้อสงสัยเรื่องการทุจริตขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการแล้ว ส่วนกรณี ส.ต.ง.ทักท้วงนั้น เป็นเพียงข้อแนะนำ มิได้มีผลก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายที่ผูกพันให้นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม แต่เป็นดุลพินิจนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม และนายกรัฐมนตรีก็ได้ส่งหนังสือของ ส.ต.ง. ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการต่อแล้ว ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

2. ในคดีนี้ ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดี อม.211/2560 มาใช้ได้ เพราะ ประเด็นของคดีนี้ คือ คำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา ไม่ได้เป็นฐานในการออกคำสั่งของกระทรวงการคลัง การที่ศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่นอกเหนือจากข้อเท็จจริงในคำสั่งพิพาท จึงไม่น่าจะถูกต้อง

3. นายกรัฐมนตรีไม่สามารถรับทราบและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด “การวางหลักให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบทุกเรื่องถึงขั้นอาจจะเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปในอนาคต”

4. การประเมินว่าเกิดความเสียหายกับรัฐหรือไม่ ไม่อาจใช้ “ขาดทุน” มาประเมินได้ เพราะ โครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่โครงการแสวงหากำไร แต่เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา “ถือเป็นโครงการที่รัฐต้องใช้งบประมาณใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการให้บรรลุผลเช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆที่รัฐสนับสนุน เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุน จึงมิใช่เหตุผลที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตนรีหรือคณะรัฐมนตรีจะนำมาใช้เป็นเหตุในการยกเลิกโครงการ และไม่อาจนำมาอ้างเป็นความเสียหายเพื่อให้รัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ให้ต้องรับผิดในผลการดำเนินการที่ขาดทุน” ในส่วนของการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น มีการดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญากับเจ้าหน้าที่แล้ว และ “ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ร่วมกระทำทุจริตกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด”

ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ ได้แก่ สมชัย วัฒนการุณ, มานิตย์ วงษ์เสรี, สมยศ วัฒนภิรมย์ (ดูคำพิพากษา หน้า 147-171)

ประเด็นที่สาม

การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้ประกอบการพิจารณาในคดีนี้ได้ / ต้องหักส่วนความผิดของหน่วยงานและระบบออกไปด้วยร้อยละ 50 / โครงการระบายข้าว G to G เกิดจากการปฏิบัติในระดับเจ้าหน้าที่ นายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในระดับนโยบาย ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติการ จึงให้รับผิดร้อยละ 5 คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนประมาณ 500 ล้านบาท) / หากเอกชนผู้ทุจริต ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ความเสียหายของโครงการระบายข้าว G to G แล้ว ก็ให้หักส่วนนี้ออกจากส่วนที่คุณยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ด้วย

ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ ได้แก่ สมชัย วัฒนการุณ, อนุวัฒน์ ธาราแสวง, สมยศ วัฒนภิรมย์ (ดูคำพิพากษา หน้า 172-177)

ประเด็นที่สี่

ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยให้เหตุผลประกอบ ดังนี้

1. การดำเนินการโครงการจำนำข้าว ทำโดยรูปแบบองค์กรกลุ่ม คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ไม่อาจเป็นความรับผิดของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว

2. คณะกรรมการกำหนดค่าเสียหายของกระทรวงการคลัง เป็นผลสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจ ดังนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและผู้ลงนามออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ “จำเป็นที่จะต้องพิจารณาและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยไม่ต้องพิจารณาหรือคำนึงถึงความยุติธรรมหรือคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการเมืองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทรืโอชา ได้กำหนดสั่งการและคาดโทษไว้ในที่ประชุมของคณะกรรมการ กบข.ครั้งที่ 3/2558 ดังกล่าว” (ดูส่วนนี้ในหน้า 190,191)

3. ประเด็นในคดีอาญา ไม่อาจนำมาใช้ในคดีนี้ได้

ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ ได้แก่ สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ (ดูคำพิพากษา หน้า 178-195)

อนึ่ง เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาและความเห็นแย้ง พิจารณาจากรายชื่อตุลาการที่ลงชื่อในคำพิพากษาจำนวน 5 คน พิจารณาจากรายชื่อตุลาการที่ลงชื่อในความเห็นแย้งแล้ว เราไม่อาจทราบได้ว่าองค์คณะ 5 คน (ตามรายชื่อปรากฏท้ายคำพิพากษา หน้า 136) แต่ละคนลงมติกันอย่างไร ในแต่ละประเด็น มีมติด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย และเราไม่อาจทราบได้ว่า มีประเด็นใดบ้างที่ส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ฯ มีกี่คน ใครบ้าง และในแต่ละประเด็น มีมติด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย (เราทราบแต่เพียงมีตุลาการที่เป็นเสียงข้างน้อยในบางประเด็น ได้ลงชื่อไว้ในความเห็นแย้ง)

เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง สัมพันธ์กับการเมือง เป็นคำพิพากษาที่กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และมีความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยในหลายประเด็น ผมจึงมีความเห็นว่า เพื่อความโปร่งใสและประโยชน์ทางวิชาการ เพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลปกครองผ่านการพิจารณาการให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาได้ ศาลปกครองสูงสุดควรเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้

1. การพิจารณาในองค์คณะ ต้องวินิจฉัยและลงมติในประเด็นใดบ้าง

2. ตุลาการในองค์คณะ ลงมติในแต่ละประเด็นด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย

3. มีประเด็นใดบ้างที่ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด

4. องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ขาดในแต่ละประเด็น มีจำนวนเท่าไร ในแต่ละประเด็นมีการลงมติด้วยคะแนนเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย

ตั้งแต่ผมยังปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบบรรยายกฎหมายปกครองและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อเนื่องทุกปี ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีความเสียหายจากการทุจริตโครงการจำนำข้าว ไม่สามารถนำกฎหมายความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ มาบังคับใช้ สั่งให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ผมได้แสดงความเห็นมาโดยตลอด ทั้งผ่านทางข้อเขียน เฟสบุ๊ค และแสดงความเห็นในที่สาธารณะ

จนกระทั่ง ผมได้ลาออกจากอาจารย์ประจำ มาตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้เป็น สส. จนถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หากมีโอกาส ก็แสดงความเห็นเช่นนี้มาเสมอ

จนมาถึงวันนี้ วันที่ผมไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองใดๆ และมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง แต่ผมก็ยังคงยืนยันความเห็นทางกฎหมายในกรณีนี้แบบเดิม

จึงขอยืนยันใช้เสรีภาพในทางความคิดและทางวิชาการ แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx