รู้จัก รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เขย่ากระบี่ ล้วนพาดผ่านจังหวัดท่องเที่ยวดัง

รู้จัก รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ยังมีพลัง แผ่นดินไหวเขย่ากระบี่ ล้วนพาดผ่านจังหวัดท่องเที่ยวดัง หากแผ่นดินไหวใหญ่กระทบสูง
หากพูดถึงภัยพิบัติที่น่าหวั่นเกรงสำหรับคนไทย “แผ่นดินไหว” อาจไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวเหมือนพายุหรืออุทกภัย แต่ปัจจุบัน ทั้งแผ่นดินไหวพม่า 8.2 และล่าสุด แผ่นดินไหวที่กระบี่ ความลึกเพียง 2 กิโลเมตร ทำให้คนไทยสนใจรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะ “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” ที่พาดผ่านหลายจังหวัดด้ามขวานทอง
แนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยพาดผ่านพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ไปจนถึงภูเก็ต เมืองชายฝั่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
แนวรอยเลื่อนนี้ทอดตัวยาวจากอำเภอบ้านตาขุน ผ่านคลองมะรุ่ย คลองชะอน จนลงทะเลอันดามันที่อ่าวพังงา รวมระยะทางบนแผ่นดินกว่า 150 กิโลเมตร มีทิศทางเฉียงจากตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ คล้ายเส้นด้ายล่องหนที่เย็บแผลเก่าในชั้นเปลือกโลก
รอยเลื่อนมีพลัง หมายถึงอะไร?
คำว่า “รอยเลื่อนมีพลัง” (Active Fault) คือคำจำกัดความทางธรณีวิทยาที่หมายถึง รอยเลื่อนที่ยังคงเคลื่อนตัวอยู่ หรือเคยเคลื่อนตัวในช่วง 11,000 ปีที่ผ่านมา (ยุคโฮโลซีน) ซึ่งบ่งชี้ว่า มันอาจยังมีศักยภาพก่อให้เกิดแผ่นดินไหวอีกในอนาคต
รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยผ่านการศึกษาหลายครั้งโดยนักธรณีวิทยา ได้รับการยืนยันว่า “มีพลัง” จากหลักฐานในดินชั้นลึก และการสำรวจพฤติกรรมของเปลือกโลกในอดีต พบว่าครั้งหนึ่งมันเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 มาแล้วเมื่อราว 2,000 ปีก่อน
ลักษณะเฉพาะของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
ลักษณะเฉพาะของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยคือ “รอยเลื่อนตามแนวระดับ” (Strike-slip fault) ที่เคลื่อนตัวในแนวนอน โดยเป็นแบบ “เหลื่อมซ้าย” หมายถึง ถ้ายืนคร่อมรอยเลื่อนแล้วมองไปอีกฝั่ง จะเห็นแผ่นดินฝั่งตรงข้ามเลื่อนไปทางซ้าย
ความสำคัญของลักษณะการเคลื่อนที่นี้คือ รอยเลื่อนแบบนี้มักสร้างแรงสั่นสะเทือนรุนแรงในแนวราบ แต่มีโอกาสต่ำที่จะก่อให้เกิดสึนามิ เพราะไม่สามารถแทนที่น้ำมหาศาลในแนวดิ่งได้ ต่างจากรอยเลื่อนที่มักพบในเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก
แม้รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยจะมีอัตราการเลื่อนตัวเฉลี่ยเพียง 0.1 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับรอยเลื่อนในประเทศอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย เพราะพลังงานที่ก่อตัวช้าอาจถูกสะสมไว้เป็นเวลานานหลายร้อยปี แล้วระเบิดออกมาเป็นแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่เมื่อถึงจุดหนึ่ง
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หากรอยเลื่อนนี้เคลื่อนตัวทั้งแนวพร้อมกัน มีความเป็นไปได้ที่จะก่อแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ถึง 7.0 ได้ อย่างไรก็ตาม มีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญบางส่วน (อ้างอิงจากเหตุการณ์ปี 2555) ให้ความเห็นว่าขนาดแผ่นดินไหวที่อาจเกิดจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและรอยเลื่อนระนอง ไม่น่าจะรุนแรงเกินกว่า 6 ริกเตอร์

ประวัติการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
แม้ว่ารอยเลื่อนคลองมะรุ่ยจะมีอัตราการเลื่อนตัวค่อนข้างต่ำและมีคาบอุบัติซ้ำของเหตุการณ์ใหญ่ที่ยาวนาน แต่ก็มีบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวที่เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนนี้อยู่เป็นระยะ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สำคัญๆ ดังนี้
16 พฤษภาคม 2476 (1933): เกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดพังงา (ไม่มีข้อมูลขนาด)
7 เมษายน 2519 (1976): เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งภูเก็ต (ไม่มีข้อมูลขนาด)
17 สิงหาคม 2542 (1999): เกิดแผ่นดินไหว (ไม่มีข้อมูลตำแหน่งและขนาด)
29 สิงหาคม 2542 (1999): เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งภูเก็ต (ไม่มีข้อมูลขนาด)
16 เมษายน 2555 (2012): เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 4.3 ตามมาตราริกเตอร์ ที่ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เหตุการณ์นี้ถือเป็นแผ่นดินไหวบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ในขณะนั้น) ที่มีจุดศูนย์กลางในจังหวัดภูเก็ต และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershocks) เกิดขึ้นอีกหลายครั้งในวันต่อๆ มา โดยมีขนาดตั้งแต่ 2.1 ถึง 3.2 ริกเตอร์
ปี 2558 (2015): เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 4.5 ที่จังหวัดพังงา
13 กุมภาพันธ์ 2566 (2023): เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 3.7 ที่ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา
29 พฤษภาคม 2567 (2024): เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 2.4 ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งระบุว่าเกิดจากการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และนับเป็นครั้งแรกที่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวบนเกาะสมุย
แผ่นดินไหวกระบี่ น่ากังวลแค่ไหน
เหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.5 แมกนิจูดเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 เมษายน 2568 บริเวณตำบลคลองเขม้า อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ นายธีรศักดิ์ ทองมาตร์ รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า แรงสั่นไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของอำเภอเหนือคลอง ได้แก่ ตำบลปกาสัย ตำบลตลิ่งชัน ตำบลคลองเขม้า และตำบลเหนือคลอง
รวมถึงสถานที่สำคัญอย่างศาลากลางจังหวัด สนามบินกระบี่ และโรงพยาบาลกระบี่ ก็มีเจ้าหน้าที่รับรู้ถึงแรงสั่นไหวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ และการเดินทางทางอากาศยังคงดำเนินการได้ตามปกติ
แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรธรณีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีแนวโน้มเกิดจาก การขยับตัวของ “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแบบระนาบที่ยังมีพลัง (active fault) โดยทอดตัวยาวประมาณ 148 กิโลเมตร พาดผ่าน อ.บ้านตาขุน และ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี อ.ทับปุด และ อ.เมือง จ.พังงา และต่อเนื่องลงทะเลอันดามัน จนถึงระหว่าง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กับ อ.เกาะยาว จ.พังงา
รอยเลื่อนนี้เคยสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับพื้นที่ภาคใต้มาแล้วหลายครั้ง เช่น
- วันที่ 16 เม.ย. 2555 แผ่นดินไหวขนาด 4.3 ที่ ต.ศรีสุนทร จ.ภูเก็ต ทำให้บ้านเรือนในบางหมู่บ้านแตกร้าวมากกว่า 10 หลัง
- วันที่ 7 พ.ค. 2558 แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ลึก 11 กม. ทางตอนใต้ของเกาะยาวใหญ่ รับรู้ได้ใน จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่
แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จะสร้างความเสียหายอย่างหนักในไทย โดยเฉพาะเหตุอาคาร สตง. ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มจนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก แต่กรมทรัพยากรธรณียืนยันว่า แผ่นดินไหวที่กระบี่ไม่ใช่ผลพวงโดยตรงจากแผ่นดินไหวในเมียนมา
แม้เปลือกโลกอินเดียกับยูเรเซียจะยังคงชนกันและปล่อยพลังงานอยู่ต่อเนื่อง แต่กรณีของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและกลุ่มรอยเลื่อนในประเทศไทยจำนวน 16 แห่ง ยังมีลักษณะ “ปลดปล่อยพลังงานตามธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นเป็นวงจรของตัวเอง
สรุป ควรกังวลหรือไม่?
- เหตุแผ่นดินไหวที่กระบี่ครั้งนี้ ยังไม่ถือว่าอันตรายรุนแรง แต่ถือเป็น “สัญญาณเตือน” ว่ารอยเลื่อนคลองมะรุ่ยยังมีพลังและยังเคลื่อนตัวได้
- ขนาด 3.5 และลึกเพียง 2 กม. ทำให้ชาวบ้านในบางพื้นที่รู้สึกได้ แม้ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างหลัก แต่ควรมีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
- ไม่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับแผ่นดินไหวในเมียนมา รอยเลื่อนของไทยมีพลวัตของตัวเอง ซึ่งต้องอาศัยการเฝ้าระวังในระยะยาว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จับตา รอยเลื่อนที่กาญจนบุรี เตือนภัย กทม. รับแรงสั่น 3-4 เท่า หากแผ่นดินไหว 7.5
- เช็ก 15 รอยเลื่อนมีพลังในไทย พาดผ่าน จังหวัดไหนบ้าง
- รอยเลื่อนสะกาย อันตรายแค่ไหน จุดเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เมียนมา-ไทย