การเงินเศรษฐกิจ

สรุปดราม่า เนสกาแฟขาดตลาด ศาลห้ามผลิตขาย เนสท์เล่ เตรียมค้าน เกิดอะไรขึ้น

สรุปดราม่า เนสท์เล่ หวั่นขาดตลาด เตรียมยื่นคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังศาลมีคำสั่ง ห้ามผลิตเนสกาแฟ ในไทย หวั่นกระทบผู้ประกอบการรายย่อย เกิดอะไรขึ้น

ศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย เนสกาแฟ ปมพิพาทคู่สัญญา

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ หลังจากศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปที่ใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย

คำสั่งศาลดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจาก นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ยื่นคำร้องขอคุ้มครองต่อศาล โดยอ้างสิทธิ์ภายใต้สัญญาการร่วมทุนที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล ซึ่งรับรองว่าเนสท์เล่ได้ยุติสัญญาให้สิทธิ QCP ในการผลิตเนสกาแฟอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เนสท์เล่ยืนยันว่า ยังไม่มีโอกาสได้นำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลในคดีนี้ แต่บริษัทได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเตรียมยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาลแพ่งมีนบุรีโดยเร็วที่สุด

สำหรับความร่วมมือระหว่างเนสท์เล่และ QCP เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2533 ในรูปแบบการร่วมทุน 50:50 กับตระกูลมหากิจศิริ โดยเนสท์เล่รับผิดชอบด้านการผลิต การตลาด และการจัดจำหน่าย ขณะที่เทคโนโลยีการผลิตถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่โดยเฉพาะ

เนสท์เล่เผยว่า ภายหลังจากสิ้นสุดสัญญาร่วมทุน บริษัทคู่สัญญาไม่สามารถตกลงเรื่องแนวทางดำเนินงานในอนาคตร่วมกันได้ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 เนสท์เล่ เอส เอ จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท QCP อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นายเฉลิมชัย ได้ยื่นฟ้องบริษัทในเครือเนสท์เล่เพิ่มเติมอีก 2 คดี และศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในแต่ละคดีเช่นกัน

เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนสกาแฟในประเทศไทยทั้งหมด โดยเนสท์เล่ได้แจ้งต่อร้านค้าปลีกทั่วประเทศในวันที่ 4 เมษายน ว่าจะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

เนสท์เล่แสดงความกังวลว่า คำสั่งศาลอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ค้ารายย่อย เช่น ร้านกาแฟขนาดเล็ก และรถเข็นขายกาแฟ ที่จำเป็นต้องปรับสูตรใหม่ และอาจกระทบต่อรสชาติ ซึ่งส่งผลต่อรายได้โดยตรง นอกจากนี้ ยังรวมถึงพนักงาน ลูกค้า คู่ค้าซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทาน และเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและเลี้ยงโคนม ซึ่งเคยเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบให้เนสกาแฟในไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนสกาแฟเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้ากว่า 50% ของผลผลิตในประเทศต่อปี จึงเกรงว่าเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในด้านรายได้และเสถียรภาพการค้าภาคเกษตรกรรม

ทั้งนี้ เนสท์เล่ยืนยันจะเดินหน้าแก้ไขสถานการณ์ และยื่นคำร้องเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองต่อศาล พร้อมส่งมอบข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อการพิจารณาอย่างรอบด้าน

เนสท์เล่ยังยืนยันความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยในช่วงปี 2561–2567 บริษัทได้ลงทุนในไทยไปแล้วกว่า 22,800 ล้านบาท และดำเนินธุรกิจในประเทศมายาวนานกว่า 130 ปี โดยมุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่ผู้บริโภค พนักงาน เกษตรกร และพันธมิตรธุรกิจทุกฝ่าย

ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทย
ภาพจาก: nescafe

กรมการค้าภายจับตาใกล้ชิด เนสกาแฟขาดตลาด เร่งตรวจเข้มราคาหลังศาลสั่งห้ามผลิตเนสกาแฟ

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า แม้กาแฟจะไม่ใช่สินค้าควบคุมตามบัญชีของกระทรวงพาณิชย์ แต่จากกระแสความกังวลของประชาชนหลังศาลมีคำสั่งห้ามบริษัทเนสท์เล่ ผลิตและจำหน่ายเนสกาแฟในประเทศไทย กรมจึงได้เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าขาดแคลนและราคาพุ่ง

กรมการค้าภายในได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ พบว่ายังมีสินค้าเพียงพอจำหน่าย ราคายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และยังไม่พบการกักตุนหรือชะลอการจำหน่ายสินค้าแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา กรมได้เชิญผู้ค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่นเข้าหารือเรื่องสถานการณ์สินค้า ได้รับการยืนยันว่ามีการสั่งซื้อและจัดส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบรนด์กาแฟทางเลือกอื่น ๆ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กำลังได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค รวมถึงมีการจัดโปรโมชันลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย

นายวิทยากรระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานปัญหาสินค้าขาดตลาด แต่กรมจะยังคงติดตามสถานการณ์ด้านปริมาณและราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ร้านค้าทุกแห่งแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน หากพบไม่ปิดป้ายราคา จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากตรวจพบการฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินควร กักตุนสินค้า หรือปฏิเสธการขาย อาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ประชาชนที่พบปัญหาเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้า หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569, แอปพลิเคชันไลน์ @MR.DIT หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที.

รู้จักบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ผู้ผลิตเนสกาแฟ ประเทศไทย

บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) จดทะเบียนธุรกิจเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2532 ประกอบธุรกิจประเภทผลิต อุตสาหกรรม กาแฟสำเร็จรูป โดยมีทุนจดทะเบียนในปัจจุบัน 500,000,000 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท QCP มีดังนี้

1. เฉลิมชัย มหากิจศิริ (ไทย) ถือหุ้น 41.80% จำนวน 20,900,000 หุ้น มูลค่า 1,570 ล้านบาท

2. เนสท์เล่ เอส.เอ (สวิตเซอร์แลนด์) ถือหุ้น 30% จำนวน 15,000,000 หุ้น มูลค่า 1,127 ล้านบาท

3. วิโทรปา เอส.เอ (สวิตเซอร์แลนด์) ถือหุ้น 19% จำนวน 9,500,000 หุ้น มูลค่า 714 ล้านบาท

4. สุวิมล มหากิจศิริ (ไทย) ถือหุ้น 5% จำนวน 2,500,000 หุ้น มูลค่า 187 ล้านบาท

5. ประยุทธ มหากิจศิริ (ไทย) ถือหุ้น 3.20% จำนวน 1,600,000 หุ้น มูลค่า 120 ล้านบาท

6. บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง ประเทศไทย จำกัด (ไทย) ถือหุ้น 1% จำนวน 500,000 หุ้น มูลค่า 37 ล้านบาท

ผลประกอบการย้อนหลัง

ปี 2562 รายได้รวม 15,177,522,579 บาท กำไรสุทธิ 3,389,320,984 บาท
ปี 2563 รายได้รวม 15,772,707,161 บาท กำไรสุทธิ 3,683,329,299 บาท
ปี 2564 รายได้รวม 15,459,985,265 บาท กำไรสุทธิ 3,704,923,224 บาท
ปี 2565 รายได้รวม 17,115,353,376 บาท กำไรสุทธิ 3,403,207,473 บาท
ปี 2566 รายได้รวม 17,183,968,165 บาท กำไรสุทธิ 3,067,997,614 บาท

ผลประกอบการ ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP)
ภาพจาก: data.creden.co

เฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาทธุรกิจกาแฟ ผู้นำในหลากหลายอุตสาหกรรม

เฉลิมชัย มหากิจศิริ หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า กึ้ง เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนกลางของ นายประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจผู้กว้างขวาง ผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงงานผลิตกาแฟเนสกาแฟ และ นางสุวิมล มหากิจศิริ ทำให้เขาเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง

กึ้ง เฉลิมชัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์และการเงิน จาก มหาวิทยาลัยซัฟโฟล์ค (Suffolk University) ประเทศสหรัฐอเมริกา และต่อมาได้รับปริญญาโทในสาขาเดียวกันจาก มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์และความรู้ทางธุรกิจให้กับเขา

หลังจากเรียนจบ กึ้ง เฉลิมชัยได้กลับมาประเทศไทย เริ่มเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว นอกจากธุรกิจกาแฟ ได้ขยายขอบข่ายไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้กลุ่มบริษัทในเครือมหากิจศิริเติบโตและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน เฉลิมชัย มหากิจศิริ ดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายบริษัท โดยเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนในหลากหลายธุรกิจ อาทิเช่น

ธุรกิจขนส่งทางเรือ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักดั้งเดิมของ TTA

ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจพลังงาน โดยมีการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นอกเหนือจากธุรกิจกาแฟแล้ว ยังมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ในเครือ

ธุรกิจไลฟ์สไตล์และบันเทิง ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเป็น กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีชื่อดังมากมาย

นอกเหนือจากบทบาทในภาคธุรกิจแล้ว เฉลิมชัยยังเคยมีบทบาททางการเมือง โดยเคยดำรงตำแหน่ง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเคยเป็นคณะทำงานของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ชีวิตส่วนตัว เฉลิมชัยเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจหนุ่มที่มีความสามารถ มีบุคลิกที่เข้าถึงง่าย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แม้จะอยู่ในตระกูลที่มีฐานะ แต่เขาก็ได้รับการยกย่องในเรื่องความสุภาพติดดิน

ภาพจาก: Kueng Chalermchai – กึ้ง เฉลิมชัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button