การเงินเศรษฐกิจ

กยศ. หักเงินเพิ่ม 3000 บาท ชี้แจงแล้ว แนะปรับโครงสร้างหนี้

กยศ หักเงินเพิ่ม 3000 บาท ชี้แจงแล้ว คนที่ถูกหักเงินเดือนนี้ จ่ายเงินต่อปีไม่ครบ มียอดค้างชำระ แนะ ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อโดนหัก 3000 บาท แค่เดือนเมษา 2568 เดือนเดียว

จากกรณีโลกออนไลน์เผยแพร่จดหมาย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.แจ้งนายจ้างทั่วประเทศ หักเงินคืนหนี้เพิ่ม 3,000 บาทต่อเดือน จากบัญชีลูกหนี้ที่ค้างชำระ เริ่มเมษายน 2568

รายละเอียดจดหมายเป็นการแจ้งแนวทางการหักเงินเดือนผู้กู้รายเดือนใหม่ มีผลตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป เฉพาะผู้กู้ที่มียอดหนี้ค้างชำระ จะถูกหักเงินเพิ่มเพื่อชำระยอดค้าง

สาเหตุการปรับการหักเงินเดือน กยศ.ระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้กู้ที่มีหนี้ค้างชำระ มักไม่ชำระยอดค้างด้วยตนเองตามที่แจ้ง ส่งผลให้การจัดเก็บหนี้ของกองทุนมีความล่าช้า ทางกองทุนจึงเริ่มใช้สิทธิตามกฎหมาย แจ้งให้นายจ้างหักเงินเพิ่มจากเงินเดือนผู้กู้ที่ยังค้างชำระ โดยเป็นจำนวนเงินสูงสุด 3,000 บาทต่อเดือน นอกเหนือจากจำนวนเงินที่ต้องชำระตามปกติ

ยกตัวอย่างเช่น

จากงวดปัจจุบันแจ้งหักเงินเดือน 1,000 บาท และมียอดค้าง 5,000 บาท จะถูกหัก 4,000 บาท

หากมียอดค้าง 2,500 บาท จะถูกหักรวม 3,500 บาท

ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ต้องการให้หักเงินเพิ่มตามที่กองทุนแจ้ง สามารถดำเนินการ “ปรับโครงสร้างหนี้” โดยกองทุนแนะนำให้ดำเนินการภายในเดือนเมษายน 2568 เพื่อหลีกเลี่ยงการหักเงินเพิ่มในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ต้องโดนหัก 3000 บาทเดือนถัดไป

ในอินโฟกราฟิกที่เผยแพร่จสก กยศ.ชี้แจงว่า สาเหตุที่ยอดค้างปรากฏแม้ถูกหักเงินเดือนทุกเดือน ยอดค้างชำระหนี้ของผู้กู้ยืมอาจเกิดจาก ยอดค้างชำระหนี้ก่อนการหักเงินเดือน

หรือในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนท่านมีการขอปรับลดจำนวนการหักเงิน แล้วผู้กู้ยืมไม่ได้ไปชำระส่วนต่างในวันที่ 5 กรกฎาคมของงวดปีนั้นๆ

ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดได้เองผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect”

เปิดโอกาสลดหนี้ปิดบัญชี

ถ้าไม่ต้องการให้นายจ้างหักเงินตามที่กองทุนฯ แจ้งในเดือนนี้ ต้องทำอย่างไร

ผู้กู้ยืมสามารถเลือกปฏิบัติ ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี

1. ดำเนินการขอปรับโครงสร้างหนี้

• เพื่อลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือน

• ขยายระยะเวลาการผ่อน

• ลดเบี้ยปรับให้ 100%

• และปลดผู้ค้ำประกันให้

โดยกองทุนจะแจ้งจำนวนเงินการหักเงินเดือนตามยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนถัดจากเดือนที่ผู้กู้ยืมได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

เช่น ในกรณีที่ท่านทําสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ภายใน เดือนเมษายน 2568 กองทุนจะแจ้งยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2568

ดังนั้น เดือนเมษายน 2568 นี้ ท่านจะถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท เพียง 1 เดือน เท่านั้น

2. ชำระยอดหนี้ค้างให้เสร็จสิ้น หากผู้กู้ยืมชำระแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินนำหลักฐานการชำระแจ้งต่อนายจ้าง แล้วให้นายจ้างลบยอดออก 3,000 บาท จากยอดหักเงินเดือนในเดือนเมษายน 2568 ได้

ทั้งนี้ ผู้กู้หลายรายเริ่มร้องเรียนผ่านโลกออนไลน์ถึงความกังวลเกี่ยวกับยอดหักที่เพิ่มขึ้น ขณะที่บางฝ่ายวิจารณ์ว่ากองทุนควรให้โอกาสปรับตัวก่อนใช้มาตรการเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม กยศ.ยืนยันว่าทุกขั้นตอนมีทางเลือกให้ลูกหนี้สามารถเข้าปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม หากดำเนินการทันตามกำหนด.

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button