เฉลย พระธาตุอินทร์แขวน ทำไมไม่กลิ้งถล่ม แม้แผ่นดินไหว 8.2 เขย่าเมียนมา

ไขสงสัย พระธาตุอินทร์แขวน ทำไมไม่กลิ้งถล่ม แม้แผ่นดินไหวเขย่าเมียนมา ผู้เชี่ยวชาญยกหลักธรณีวิทยา ชี้ ไม่ใช่หินแยกมาวาง แต่เป็นก้อนเนื้อเดียวกับหน้าผา
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมา ความรุนแรงระดับ 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย แต่ด้วยแผ่นดินไหวครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ใกล้กับมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้สร้างความเสียหายให้หลายพื้นที่ในเมียนมา
ท่ามกลางการสูญเสียและผลกระทบที่แทบประเมินค่าไม่ได้ คลิปวิดีโอหนึ่งที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ก็ได้เผยให้เห็นยอด “พระธาตุอินทร์แขวน” หรือ “ไจที่โย่” (Kyaiktiyo Pagoda) สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุด 1 ใน 5 แห่งของเมียนมา ที่เกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรงตามแรงแผ่นดินไหว แต่กลับไม่ส่งผลกระทบรุนแรงใด ๆ จนเกิดเป็นคำถามสำคัญที่ว่า “ทำไมก้อนหินสีทองขนาดมหึมา ที่ตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่ริมหน้าผาจึงไม่กลิ้งถล่มลงมา หลังเกิดแผ่นดินไหว”
ล่าสุด (2 เมษายน 2568) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความไขกระจ่างข้อสงสัยดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant โดยอ้างอิงข้อมูลตามหลักธรณีวิทยา พร้อมเปิดความจริงที่หลายคนไม่รู้ ว่าแท้จริงแล้วก้อนหินพระธาตุอินทร์แขวนนั้น ไม่ใช่หินก้อนแยกที่ถูกนำมาวางไว้ แต่คือเนื้อหินก้อนเดียวกันกับตัวหน้าผา

โพสต์ของ ‘อาจารย์เจษฎา’ ระบุไว้ดังนี้ “”ทำไมพระธาตุอินทร์แขวน ถึงไม่กลิ้งลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ?” มีคำถามมาจากข่าว (ดูลิงค์ด้านล่าง) เกี่ยวกับ “พระธาตุอินทร์แขวน” 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุด หรือ “เบญจมหาบูชาสถาน” ของประเทศเมียนมา ที่แม้จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ระดับความแรง 8.2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และทำให้ยอดของพระธาตุสั่นไหวไปตามความรุนแรง จนกลายเป็นคลิปไวรัล แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ !?
ซึ่งก็ทำให้หลายต่อหลายคนแปลกใจที่หินยักษ์ก้อนนี้ ซึ่งมีน้ำหนักหลายร้อยตัน และมาตั้งอยู่บนริมผา ในลักษณะท้าทายแรงดึงดูดของโลกจนดูเหมือนจะตกมิตกแหล่ กลับไม่มีการเคลื่อนแต่อย่างใดหลังในเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ผ่านมา
คงเป็นเพราะมีหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าก้อนหินพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เกิดจากการที่ในอดีต มีก้อนหินเคลื่อนที่หล่นลงมา แล้วติดคาอยู่ริมเพิงผาของยอดเขาพวงลวง โดยมีจุดศูนย์ถ่วงที่สมดุลพอดี ทำให้น้ำหนักไปอยู่บนต้วหน้าผา มากกว่าออกไปทางส่วนที่ยื่นออกไป !? แต่ ๆ ๆ ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นครับ ! ก้อนหินที่ตั้งอยู่ของพระธาตุอินทร์แขวนนี้ จริง ๆ แล้ว เป็น “หินก้อนเดียวกันกับตัวหน้าผา” นั่นแหละครับ
ในทางธรณีวิทยานั้น ก้อนหินที่เห็นตั้งอยู่บนหน้าผา จริง ๆ แล้ว เป็นผลจากการที่น้ำไปกัดเซาะ (erosion) ชั้นหินแกรนิตที่แตกร้าวในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้น้ำไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้า ๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์ครับ”
เปิดความจริง การตั้งอยู่ของ “พระธาตุอินทร์แขวน” ประเทศพม่า
ไม่เพียงเท่านั้น ‘อาจารย์เจษฎา’ ยังได้หยิบยกโพสต์ไขกระจ่างในอดีต ที่เคยออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งอยู่ของ “พระธาตุอินทร์แขวน” ที่พม่า เพื่อช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าง พระธาตุอินทร์แขวน รวมถึงช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุที่ 1 ใน 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไม่พังเสียหาย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
“”พระธาตุอินทร์แขวน เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาครับ” มีแฟนเพจส่งคำถามว่า “อาจารย์ครับ ผมสงสัยเรื่องการตั้งอยู่ของพระธาตุอินทร์แขวน ที่พม่าครับ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตามหลักวิทยาศาสตร์ครับ ?”
เป็นคำถามที่ดีมากเลย ที่ต้องการคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชิงความเชื่อหรือตำนาน… ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้นบอกว่า ก้อนหินก้อนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา (ซึ่งสุดท้ายถูกปรับเปลี่ยนมา จนเป็นสถานที่สักการะบูชา) นั้นไม่ใช่เกิดจากการที่มีใครยกไปตั้ง แต่ว่าเป็นผลจากการกัดเซาะของหินทางธรณีวิทยา เท่านั้นเองครับ
“พระธาตุอินทร์แขวน” หรือที่คนพม่าเรียกว่า “พระธาตุไจที่โย่” เป็นสถานที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก สร้างขึ้นบนก้อนหินแกรนิต ที่ปิดด้วยทองคำเปลว โดยผู้ที่นับถือศรัทธาเชื่อกันว่า พระธาตุไจที่โย่เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาสูงชัน บนยอดเขาไจที่โย่ อย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลก โดยไม่ตกลงมา
ตามตำนานระบุว่า ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า และนำมาไว้ในมวยผม ตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของฤๅษี ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทร และนำมาวางไว้บนภูเขา

พระธาตุไจที่โย่ นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า โดยก้อนหินสีทองที่มีการสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กไว้ด้านบนนั้น (ก้อนหินนั้นมีความสูงประมาณ 7.6 เมตร และมีเส้นรอบวงประมาณ 15 เมตร ส่วนพระเจดีย์เหนือหิน มีความสูงประมาณ 7.3 เมตร) ตั้งอยู่บนแท่นหินธรรมชาติ ที่ดูเหมือนเป็นฐานของพระธาตุ ตั้งอยู่บนระนาบที่เอียงและบริเวณที่สัมผัสมีขนาดเล็กมาก
อย่างไรก็ตาม ในทางธรณีวิทยา อธิบายการเกิดของพระธาตุนี้ว่า เป็นผลจากการกัดเซาะ (erosion) ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏขึ้นตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพียงแต่หาดูได้ยากสักหน่อย
สาเหตุนั้น เกิดจากการยกตัวของชั้นหินแกรนิต และเกิดการแตกร้าวขึ้นได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน หลังจากนั้น น้ำเป็นตัวการในการกัดเซาะ โดยไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้า ๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์
ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบนี้ อาจจะเรียกว่า เป็น balancing rock หรือหินสมดุล (หรือ balanced rock หรือ precarious boulder) ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และทำให้เห็นก้อนหินขนาดใหญ่ ไปตั้งอยู่บนก้อนหินก้อนอื่นหรือหน้าผา
หินสมดุลนั้น มีทั้งแบบที่เกิดจากการที่หินก้อนใหญ่ ไหลมาตามการเคลื่อนที่อันทรงพลังของ “ธารน้ำแข็ง Glacial” จนทำให้มันย้ายไปอยู่ที่อื่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และสังเกตได้ว่าจะเป็นหินแร่คนละประเภทกัน
ขณะที่หินสมดุลแบบที่พบที่พระธาตุอินแขวนนั้น จะเป็นผลจากการเกิดการกัดเซาะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกัดเซาะของน้ำ ลม หรือสารเคมีต่างๆ ลงไปบนชั้นหินที่ตำแหน่งนั้น และชื่อ “หินสมดุล” นี้ อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าหินก้อนหนึ่งไปวางตัวอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง อย่างสมดุล ไม่ร่วงหล่นลงมา ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กินทั้งสองยังเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาที่ฐานของหิน”
ทั้งนี้ โพสต์ของ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เป็นการชี้แจงให้เข้าใจในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยไขความกระจ่างถึงความมั่นคงแข็งแรงของพระธาตุอินทร์แขวน ว่าเหตุใดจึงสามารถยืนหยัดท้าทายกาลเวลาและภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวรุนแรงได้ โดยไม่ใช่เรื่องของความสมดุลอันน่ามหัศจรรย์ แต่เป็นเพราะการมีรากฐานเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับขุนเขา ซึ่งถูกธรรมชาติบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมา
ข้อมูลจาก Jessada Denduangboripant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ฝรั่งชื่นชม แผ่นดินไหว กทม. คนไทยเป็นระเบียบ-น้ำใจงาม ไม่เหมือนเมืองนอก
- ขนลุก บาบา วานกา หมอดูตาบอด ทำนายแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 2025
- ยูเอ็นประณาม กองทัพเมียนมา ทิ้งระเบิดซ้ำเหตุแผ่นดินไหว ตายแล้ว 40 ราย