อุทาหรณ์ ครูสาว คลำเจอก้อน-เจ็บหน้าอก คาดเป็นถุงน้ำ ก่อนช็อก ป่วยมะเร็งเต้านม

เตือนคุณผู้หญิง ครูสาว วัย 41 ปี เจ็บหน้าอก-คลำเจอก้อน คาดไม่ป่วยร้ายแรง เป็นถุงน้ำที่เต้านม สุดท้ายทราบข่าวช็อก แพทย์วินิจฉัยชิ้นเนื้อ ป่วยมะเร็งเต้านม ตัดสินใจรักษา ตัดทิ้งทั้งเต้า
“มะเร็งเต้านม” ภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิงไทย เหตุเพราะเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่ถูกต้อง จะช่วยให้เราสามารถป้องกัน ตรวจพบ และรับมือกับภัยร้ายนี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังในเคสอุทาหรณ์ล่าสุด ที่ “หมอเจด” นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำมาเล่าแบ่งปันให้ฟัง
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ‘หมอเจด’ ครีเอเตอร์หมอหนุ่ม เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก หมอเจด ได้ออกมาแชร์เรื่องราวอาการป่วยของครูสาวรายหนึ่ง วัย 41 ปี ที่ได้มาปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากคลำเจอก้อนที่เต้านม สามารถกลิ้งไปมาได้ ทั้งยังมีอาการเจ็บ ซึ่งเธอเองก็เข้าใจมาตลอดว่า ก้อนดังกล่าวเป็นแค่ถุงน้ำ

จากนั้น หมอเจด ก็ได้เผยภาพอัลตราซาวด์หน้าอกของครูสาวรายนี้ ซึ่งก็พบถุงน้ำ 2 ก้อน ที่เต้านม และยืนยันว่าเป็น BIRADS 2 แต่ที่น่าตกใจคือ พบก้อนเนื้อลักษณะแปลก ๆ อีกก้อนหนึ่ง ที่ครูสาวเองยังไม่เคยคลำเจอ
หมอเจด เผยว่า เมื่อพิจารณาเบื้องต้นจากภาพอัลตราซาวด์ คาดการณ์ว่าจะเป็น BI-RADS 4B ซึ่งเป็นความผิดปกติ ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ 10-50% ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจยืนยัน และผลการตรวจก็ยืนยันว่า ครูสาว วัย 41 ปี ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม

สำหรับวิธีทางรักษาของเคสนี้ ทางผู้ป่วยเคยมีบุตรแล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากเก็บเต้านมไว้ สุดท้ายจึงตัดสินใจตัดเต้านมทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสุขภาพในอนาคต
ทั้งนี้ ทาง หมอเจด ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า หากผู้ใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับก้อนที่เต้านม หรือมะเร็งเต้านม ก็สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้เท่าทันภัยเงียบ และรักษาได้ตรงจุดทันท่วงที


แจกทริค “ตรวจมะเร็งเต้านม” ด้วยตนเอง
การตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นการเฝ้าระวังมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และไม่ให้มะเร็งเหล่านั้นลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ โดยการตรวจมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นด้วยตนเอง สามารถทำได้เป็นประจำทุกเดือน ในวันที่ 7-10 นับจากวันแรกที่มีประจำเดือน หากหมดประจำเดือนแล้ว ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน สำหรับวิธีการตรวจเป็นดังนี้
1. ยืนหน้ากระจก
การยืนหน้ากระจก เป็นการสังเกตรูปร่างเต้านมของตนเองว่าเป็นเช่นไร บริเวณเต้านมทั้งสองข้างมีความสมมาตรกันหรือไม่
2. การคลำ
การตรวจเต้านมโดยการคลำ มีวิธีการตรวจในท่าท่างที่หลากหลาย ได้แก่
- การคลำเป็นแนวก้นหอย : เริ่มต้นจากการคลำส่วนบนของฐานเต้านมตามก้นหอยไปจนถึงฐานนมบรืเวณรอบรักแร้
- การคลำในแนวรูปลิ่ม : เริ่มต้นคลำจากส่วนบนของเต้านมไปจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด ซึ่งจะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณเต้านม
- กาiคลำในแนวขึ้นลง : เริ่มต้นโดยการคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า จากนั้นขยับนิ้วทั้งสาม คลำในแนวขึ้นและลงสลับกันไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณเต้านม
3. การบีบ
การบีบเป็นการหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ จากนั้นสังเกตว่า มีเลือดหรือของเหลวอื่น ๆ ไหลออกมาหรือไม่
อย่างไรก็ดี หากตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองแล้วพบความผิดปกติ ทั้งการพบว่าเต้านมมีรูปร่างผิดแปลกไปจากเดิม พบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือแม้แต่พบว่ามีของเหลวไหลของออกมา ควรรีบพบแพทย์และตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเจด เตือน หากมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงเป็นมะเร็งภายใน 6 เดือน
- รู้ก่อนป่วย หมอเตือน อาหารค้างคืน-อุ่นซ้ำ อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงรับเชื้อมะเร็ง
- ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เพียง 3 ขั้นตอน เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันมะเร็ง