จีนก๊อป น้ำมะพร้าว แบรนด์ดังไทย โผล่ขายเกลื่อนออนไลน์

ผู้บริโภคแห่ร้องเรียน พบสินค้า “น้ำมะพร้าว TF” เลียนแบบ “IF” แบรนด์ดังไทย ขายเกลื่อนแพลตฟอร์ตออนไลน์จีน ผู้ผลิตจีนรับปาก เรียกเก็บสินค้าคืน ภายใน 1 พฤษภาคมนี้
สำนักข่าวต่างประเทศ Sina รายงานถึงสถานการณ์ดุเดือดบนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ของจีน เมื่อผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนว่า พวกเขาได้สั่งซื้อ “น้ำมะพร้าว TF” ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกสงสัยว่า อาจเป็นสินค้า ลอกเลียนแบบ ที่จงใจทำให้เหมือนกับ “น้ำมะพร้าว IF” แบรนด์เครื่องดื่มยอดนิยมของไทย
หลังเกิดกระแสดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Jiupai Finance ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนพบว่า บรรจุภัณฑ์ของ “น้ำมะพร้าว TF” ของผู้ผลิตจีน มีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ไทยอย่างมาก แต่รสชาติและส่วนผสมกลับแตกต่างจากต้นฉบับอย่างสิ้นเชิง
จากการสอบถามไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Taobao เกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้บริโภค ซึ่งทาง Taobao ได้ให้ข้อมูลว่า “แพลตฟอร์มของเราไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ ‘TF’ หากผู้บริโภคพบว่าผลิตภัณฑ์จากร้านค้าบุคคลที่สามมีการละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งรายงานได้ แต่จะต้องมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา”

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายบริการลูกค้าของ JD.com ซึ่งเป็นอีกแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเช่นกัน ก็ได้ออกมากล่าวว่า ทางบริษัทได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว และได้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทั้งสองแพลตฟอร์มเน้นย้ำว่า แบรนด์จริงจะถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในหน้ารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นขอให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาให้รอบคอบก่อนทำการสั่งซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าผิดพลาด
ผู้ผลิตจีน ยอมรับ “ก๊อปปี้” ดีไซน์บรรจุภัณฑ์จากแบรนด์ไทย เตรียมเรียกเก็บสินค้าในท้องตลาด ภายใน 1 พ.ค.นี้
จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ พบว่าผู้ผลิต “น้ำมะพร้าว TF” เป็นโรงงานอาหารและเครื่องดื่ม Chenzhou Tengfei โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา หัวหน้าโรงงานได้ออกมายอมรับกับผู้สื่อข่าว Jiupai Finance ว่า สำนักงานกำกับดูแลตลาดเทศบาลเมืองเฉินโจวได้เรียกเขาไปสอบสวน และสั่งให้ทำการแก้ไข ซึ่งทางโรงงานก็ได้ให้สัญญาว่าจะดำเนินการเก็บสินค้าคงคลังทั้งหมดออกจากตลาดภายในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน
แหล่งข่าวจาก Jiupai Finance ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า การลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีของ “น้ำมะพร้าว IF” เท่านั้น
Li Chusheng หัวหน้าโรงงานอาหารและเครื่องดื่ม Tengfei เปิดเผยว่า การผลิตสินค้าลอกเลียนแบบที่คล้ายคลึงกันนี้ยังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ อีก เช่น กวางสี และกุ้ยโจว นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตบางรายที่พยายามผลิตสินค้าที่มีชื่อเรียกใกล้เคียงกัน เช่น “1F” หรือ “LF” เพื่อหวังที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางกฎหมาย
เมื่อถูกผู้บริโภคตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ “น้ำมะพร้าว TF” อาจมีการผสมน้ำเชื่อมเพื่อลดต้นทุน Li Chusheng กลับตอบเพียงว่า “ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นไปตามมาตรฐานระดับชาติ” เท่านั้น โดยไม่ได้มีการแสดงรายงานผลการทดสอบใด ๆ ที่ชัดเจนเพื่อยืนยันข้อกล่าวอ้างดังกล่าว
สำหรับ โรงงานอาหารและเครื่องดื่ม Chenzhou Tengfei อ้างอิงจากข้อมูลบนแอปพลิเคชัน Tianyancha พบว่า โรงงานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2012 มีสถานะเป็นธุรกิจส่วนบุคคล โดยมี Li Chusheng เป็นผู้ประกอบการ และมีขอบเขตธุรกิจครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มผลไม้และโซดากลิ่นผลไม้
ข้อมูลจากคดีความทางศาลยังเผยให้เห็นว่า บริษัทแห่งนี้เคยถูกตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 100,000 หยวน (ประมาณ 460,000 บาท) ในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน “Six Walnuts” ของบริษัท Hebei Yangyuan Zhihui Beverage Co., Ltd.
แบรนด์ของแท้ “IF” เตือนผู้บริโภค โปรดสังเกต 3 สิ่งนี้ก่อนซื้อ
ตัวแทนจำหน่าย “น้ำมะพร้าว IF” ของแท้ ในประเทศจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว Jiupai Financial โดยเน้นย้ำให้ผู้บริโภคสังเกต 3 จุดสำคัญ ก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ของแท้แน่นอน
1. ตรวจสอบว่ามีเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน “IF” พิมพ์อยู่บนขวดอย่างชัดเจน
2. ตรวจสอบชื่อผู้นำเข้าที่ด้านหลังขวด ซึ่งจะต้องระบุว่าเป็น “Hangzhou Dare E-Commerce Co., Ltd.” เท่านั้น
3. ร้านค้าที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการทุกแห่ง จะต้องแสดงใบรับรองการตรวจสอบและกักกันอย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้บริโภคต้องการซื้อน้ำมะพร้าว ควรให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อจากร้านค้าเรือธงของแบรนด์โดยตรง หรือจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบ ที่มักมีการล่อลวงด้วยราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เผ็ดมาร์ค’ ร้านกะเพราดัง โดนจีนก๊อปทั้งดุ้น เหมือนยันจานไปถึงใบเมนู
- จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ แจงถูกแอบอ้าง ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกรณี “ซิงซิง”
- แฟน Free Fire แห่วิจารณ์ลบ PUBG Mobile หลังบริษัทฟ้องลอกเลียนแบบ