
กรมสรรพสามิตเดินหน้าแผนจัดเก็บ ‘ภาษีความเค็ม’ ประเดิมสินค้าแรก “ขนมขบเคี้ยว” หวังปรับพฤติกรรมบริโภคลดโซเดียม ห่วงใยสุขภาพประชาชน ขณะที่ “เครื่องปรุงรส” และ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ยังไม่โดน
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าแผนการจัดเก็บภาษีสินค้าใหม่และปรับโครงสร้างภาษีสินค้าเดิม โดยประเด็นร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ คือ “ภาษีความเค็ม” ที่กรมสรรพสามิตเตรียมนำร่องจัดเก็บจากสินค้าที่มีส่วนประกอบของโซเดียมสูง โดยเน้นหลักการจัดเก็บตามปริมาณโซเดียม เพื่อหวังผลักดันให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดปริมาณโซเดียมลง ห่างไกลโรค
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในระยะแรกของการจัดเก็บภาษีความเค็ม จะมุ่งเป้าไปที่ ‘ขนมขบเคี้ยว’ เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่มีความจำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันมากนัก ส่วนสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่าง เครื่องปรุงรส และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังคงอยู่นอกแผนการจัดเก็บภาษีในระยะเริ่มต้นนี้
นางสาวกุลยา ยืนยันว่า กรมสรรพสามิตได้หารือกับภาคเอกชนผู้ประกอบการแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการจัดเก็บภาษีความเค็ม โดยกรมฯ จะให้ระยะเวลาในการปรับตัวแก่ภาคเอกชนเช่นเดียวกับภาษีความหวานที่เคยใช้ ซึ่งจะใช้อัตรารูปแบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับสูตร ลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์
“เรื่องการเก็บภาษีความเค็มนั้น เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน จะได้ข้อสรุปในปีนี้ ซึ่งเราต้องคุยกับทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับภาษีความหวาน เราก็ใช้เวลาศึกษาถึง 5 ปีก่อนเริ่มเก็บ ขณะนี้ เราเก็บมา 7-8 ปีแล้ว” น.ส.กุลยา กล่าว
นอกจากภาษีความเค็มแล้ว กรมสรรพสามิตยังเตรียมปรับปรุงโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมการใช้แบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการสำคัญ คือ แบตเตอรี่ขั้นปฐมภูมิ (ใช้แล้วทิ้ง) จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า ส่วน แบตเตอรี่ขั้นทุติยภูมิ (ชาร์จซ้ำได้) โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบาแต่ประสิทธิภาพสูง จะได้รับการลดหย่อนภาษี โครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ใหม่นี้ อยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงแนวนโยบายภาครัฐในการยกเลิกข้อกำหนดห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. ว่า คาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และจะส่งผลให้เกิดการบริโภคสินค้าในกลุ่มที่อยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เล็งเก็บ ภาษีความเค็ม เริ่มปี 68 หวังลดโซเดียมคนไทย หลังเกินมาตรฐาน 2 เท่า
- สรรพสามิตรับ ศึกษาเรื่องเก็บภาษีความเค็ม ยันห่วงสุขภาพคนไทย
- ครม. เคาะเลื่อน ภาษีความหวาน เฟส 3 ช่วยค่าครองชีพ ปชช.