การเงินเศรษฐกิจ

ลงทะเบียน คุณสู้ เราช่วย ใครได้-ไม่ได้ เงื่อนไขอะไร ต้องรู้

เปิดเงื่อนไขการลงทะเบียน ‘คุณสู้ เราช่วย’ ชู 2 มาตรการ ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวด-พักดอกเบี้ย พร้อมวิธีลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หมดเขต 28 กุมภาพันธ์ 2568

ข่าวดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ช่วยเหลือช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่มโครงสร้างหนี้ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ จ่ายตรง คงทรัพย์ และ จ่าย ปิด จบ ครอบคลุม 2.1 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568

Advertisements

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชู 2 มาตรการเด่น ครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ มีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่ 1 ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’

สำหรับมาตรการแรก คือ จ่ายตรง คงทรัพย์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้รถจักรยานยนต์ และหนี้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ช่วยปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด เพื่อให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

ส่วนดอกเบี้ยจะถูกตั้งพักไว้เป็นเวลา 3 ปี และหากผู้เข้าร่วมโครงการปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข ดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด โดยจะแบ่งรูปแบบความช่วยเหลือออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ลดค่างวด เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ (เพิ่มแบบขั้นบันได) ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น

2. พักดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีของมาตรการ และไม่ก่อหนี้เพิ่มในช่วง 12 เดือนแรกหลังเข้าร่วม

Advertisements

ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น

คุณสู้ เราช่วย มาตรการที่ 1 จ่ายตรง คงทรัพย์
ภาพจาก : bot

ใครมีสิทธิเข้าร่วมมาตรการได้บ้าง?

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการคุณสู้ เราช่วย ในมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ต้องมีคุณสมบัติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนี้

1. มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินในสัญญา (ต่อสถาบันการเงิน) ตามประเภทสินเชื่อ ได้แก่

  • สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน (Home for cash) วงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 8 แสนบาท
  • สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินรวมไม่เกิน 5 หมื่นบาท
  • สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินรวมไม่เกิน 5 ล้านบาท

กรณีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือหนี้รถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินรวมต้องไม่เกินที่กำหนด

2. เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567

3. มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

3.1 เป็นหนี้ที่ค้างชำระ มากกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 365 วัน นับจากวันที่ครบกำหนด

3.2 เคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 จากการค้างชำระเกิน 30 วัน นับจากวันที่ครบกำหนด

ประโยชน์ที่ลูกหนี้ได้รับจากมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์
ภาพจาก : bot

4 เงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนร่วมมาตรการ

1. กู้เพิ่มไม่ได้ ลูกหนี้ต้องไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่ม ใน 12 เดือนแรกหลังเข้าร่วมมาตรการ ยกเว้น กรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม

2. จะถูกรายงานข้อมูลใน NCB ว่าเข้าร่วมมาตรการ

3. หากไม่สามารถชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่กำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้

4. หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่

สำหรับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิได้รับประโยชน์ ได้แก่ จ่ายค่างวดลดลง 3 ปี สภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น โดยลุกหนี้จ่ายค่างวดลดลง 3 ปี , ภาระดอกเบี้ยลดลง ดอกเบี้ยที่พักไว้ระหว่างมาตรการ เจ้าหนี้จะยกให้หากปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข และภาระหนี้ลดลง ปิดจบหนี้เร็วขึ้น ค่างวดที่จ่ายระหว่างมาตรการจะไปตัดเงินต้นทั้งหมด

คุณสู้ เราช่วย มาตรการที่ 2 จ่าย ปิด จบ
ภาพจาก : bot

มาตรการที่ 2 ‘จ่าย ปิด จบ’

ส่วนมาตรการที่ 2 ‘จ่าย ปิด จบ’ เหมาะสำหรับผู้ที่มีหนี้เสีย และยอดหนี้ไม่สูง จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อให้สามารถชำระหนี้ ปิดบัญชีได้เร็วขึ้นพร้อมเริ่มต้นใหม่ โดยทางโครงการจะให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่าย และปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

ใครมีสิทธิเข้าร่วมมาตรการจ่าย ปิด จบ

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการจ่าย ปิด จบ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ลูกหนี้บุคคลธรรมดาทุกประเภท ที่มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL)

2. มีภาระหนี้รวมดอกเบี้ย ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อบัญชี โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (หากเข้าเงื่อนไขสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทุกบัญชี)

ในระยะต่อไปผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีมาตรการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างขอให้ติดตามศึกษารายละเอียดประกอบการสมัครเข้าร่วมมาตรการอีกครั้ง

การลงทะเบียนคุณสู้เราช่วย
ภาพจาก : bot

วิธีลงทะเบียน ‘คุณสู้ เราช่วย’ เริ่ม 12 ธ.ค. 67

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 23.59 โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการ

1. เข้าสู่เว็บไซต์ ‘คุณสู้ เราช่วย’

2. ตรวจสอบรายละเอียดมาตรการ คุณสมบัติ และเงื่อนไขการเข้าร่วมก่อนลงทะเบียน จากนั้นกดยอมรับ

3. สมัครเข้าใช้ระบบด้วยอีเมล หรือ แอปพลิเคชั่น ThaID โดยสแกน QR บนแอปฯ เพื่อยืนยันตัวตน

4. กรอกข้อมูลลงทะเบียนให้ครบถ้วน ได้แก่ ชื่อ-สกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์ติดต่อ และอีเมล

5. ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือกผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วม และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม หากมีผู้ให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมมากกว่า 1 แห่ง/ประเภท สามารถกดเพิ่มได้

หลังจากลงทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว ลูกหนี้เก็บหมายเลขคำร้องไว้เพื่อติดตามสถานะการลงทะเบียน โดยเจ้าหนี้จะเริ่มติดต่อกลับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นไป สามารถตรวจสอบสถานะได้ทางเว็บไซต์

ทั้งนี้ หากท่านใดมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบสถานะได้ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo หรือ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button