วิธีตรวจสอบรายชื่อร้านค้าสินค้า OTOP-วิสาหกิจชุมชน ลดหย่อนภาษี “Easy E-Receipt” ตามจริง ไม่เกิน 20,000 บาท เช็กร้านค้าที่ร่วมรายการ พร้อมเงื่อนไข และสินค้าที่ไม่ร่วม
สำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” ลดหย่อนภาษีปี 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt โดยจำนวนเงินดังกล่าวแบ่งเงื่อนไขออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ขณะที่การหักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), สินค้าหรือรับบริการที่มาจากวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร และสินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt 2.0 ต้องซื้อสินค้าและบริการที่กำหนด ภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน สำหรับท่านที่กำลังมองหาร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) สามารถเช็กรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ซึ่งจะแสดงรายชื่อร้านค้าและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
ร้านค้า OTOP เข้าร่วมโครงการ e-receipt 2568
สินค้าโอทอป หรือ One Tambon One Product (OTOP) คือ การยกระดับวัตถุดิบ สินค้า และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่า ส่งออกสู่ตลาดสากล และหารายได้กลับเข้าสู่ประเทศ เช่น ผ้าไหม ผ้าทอ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับ รวมทั้งของกินที่มีลักษณะเด่นในท้องถิ่นนั้น ๆ
ข้อมูลจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การคัดสรรสุดยอด OTOP ระดับประเทศ 2567 มีทั้งสิ้นกว่า 16,000 ผลิตภัณฑ์ จัดจำหน่ายที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือช่องทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่น Shopee พิมพ์คำว่า OTOP หรือ โอทอป หรือ โอทอปอะเมซิ่ง
สำหรับท่านที่กำลังมองหาร้านค้า OTOP ที่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ทีมงาน The Thaiger ได้ยกตัวอย่างร้านค้าที่สามารถออก e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt ไว้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีปี 2568 ได้แก่
ร้าน CHITA HOUSE เป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้า อุปกรณ์ใช้ประกอบอาหาร เป็นงาน OTOP สินค้าจากชุมชนคนไทย
ปลอดภัย ไร้สารเคมี จัดจำหน่ายผ่านเพจเฟซบุ๊ก CHITA HOUSE เนื่องจากเงื่อนไขบางประการของผู้ประกอบการสินค้า OTOP ทำให้ร้านต้องทำการย้ายสถานประกอบการไปยังจังหวัดแพร่แบบถาวร เพื่อเข้าโครงการจึงขอเวลาดำเนินการเรื่องลงทะเบียนผู้ประกอบการสินค้า OTOP ใหม่ทั้งหมด ลูกค้าสามารถแวะมาช้อปสินค้า OTOP ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 68 เป็นต้นไป
วิธีค้นหาร้านค้า OTOP เข้าร่วมโครงการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากรายชื่อร้านค้าข้างต้นแล้ว ประชาชนยังสามารถตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ตามขั้นตอน ดังนี้
- เข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากร > คลิก
- เลือก ‘ผู้ได้รับอนุมัติ’ ระบบจะแสดงรายชื่อของร้านค้า และผู้ประกอบการที่สามารถออกใบเสร็จ e-Tax Invoice และ e-Receipt ตามที่โครงการกำหนดเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษีได้
ส่วนการหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ ในกรณีที่ซื้อสินค้าหรือค่าบริการกับผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังนี้
1. ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
2. ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
3. ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
4. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
5. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
เช็กลิสต์ 8 รายการไม่เข้าร่วมรายการลดหย่อนภาษี 2568
กรมสรรพากรได้กำหนดรายการสินค้าและบริการที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt 2.0
1. สุรา เบียร์ และไวน์
2. ยาสูบ
3. น้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
4. รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
5. สาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 ซื้อมือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้ไหม
- เงื่อนไข Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50000 บาท ช้อปอะไรได้บ้าง
- รวมข้อมูล ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2567 เข้าใจง่าย ลุ้นครม.เคาะปีหน้า