การเงินเศรษฐกิจ

เปิดข้อดี-ข้อเสีย ภาษี VAT ปรับขึ้น 15% คนไทยเสียประโยชน์อะไรบ้าง?

เปิดผลกระทบ หากรัฐบาล ขึ้นภาษี VAT 15% ลดเพดานภาษีเงินได้นิติบุคคล หนุนบริษัททุนต่างชาติ เสี่ยงเงินเฟ้อ ของแพงขึ้น ชนชั้นกลางเสียหายหนัก คนรวยจ่ายภาษีลดลง

จากกรณีที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขึ้นพูดหัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 จนเกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับแนวคิดขึ้นภาษีแวต (VAT) จาก 7% เป็น 15% รวมถึงลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 20 -35% ลดลงมาที่ 15% สรา้งความกังวลใจว่าจะเพิ่มภาระใช้ผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนหรือไม่

Advertisements
รองนายกฯ เปรยเตรียมปรับภาษีแวต ขึ้นเป็น 15%
ภาพจาก : Youtube กรุงเทพธุรกิจ

ทั้งนี้แม้ รมว. กระทรวงการคลัง จะพยายามอธิบายแผนจัดเก็ยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ขึ้นเป็น 15% โดยมองว่าเป็นภาษีที่เก็บจากทุกคน ผ่านอัตราการบริโภค กล่าวคือ หากใช้มากก็เสียมาก และภาษีในกลุ่มบริโภคนี้ยังเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้ของรัฐด้วย หากเพิ่มเพดานภาษีจาก 7% เป็น 15% ก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีเงินกองกลางมากขึ้น และนำไปเป้นนโยบายช่วยเหลือคนรากหญ้าผู้มีรายได้น้อยได้อย่างกว้างขวางขึ้น โดยนายพิชัยได้ยกแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกว่ามีการจัดเก็บภาษีแวตในเกณฑ์ 15 -20% อยู่แล้ว ในปัจจุบันประเทศไทยจึงถือว่าเก็บภาษีส่วนนี้น้อยเกินไป

ศิริกัญญา เตือนรัฐบาลศึกษาแผนการปรับภาษีให้ดีก่อน ขึ้นภาษีแวต
ภาพจาก : X

อย่างไรก็ตาม แม้รองนายกฯ ที่ควบตำแหน่งขุนคลัง จะออกมาตอบสื่อแล้วว่า เป็นเพียงแนวคิดที่กำลังศึกษา ซึ่งยังไม่มีการปรับใช้จริง แต่นักวิชาการหลายท่าน รวมถึง ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าแผนการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 35 % เหลือ 15% ฟังดูเหมือนจะดี แต่เมื่อมองความเป็นจริงจะพบว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3 แสนบาท จะต้องเสียภาษีเพิ่มหากมีการปรับเพดานภาษีจริง ขณะที่ผู้ที่มีรายได้เกิน 3 แสนหรือ 3.6 ล้านต่อปี จะเสียภาษีน้อยลง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดคำถามว่าโมเดลการเก็บภาษีเช่นนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ตามเจตจำนงของรัฐบาลหรือไม่

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในการเสวนาที่นายพิชัย ได้พูดถึงต้นตอของแผนขยายเพดานภาษีแวต เป็น 15% นอกจากเหตุผลเรื่องแนวโน้มตลาดโลกที่เก็บในอัตราสูงกว่าไทยแล้ว รองนายกฯ ยังเผยอีกว่า การขึ้นภาษี VAT นี้เป็นเรื่องที่ล้อกันไปตามแผนการปรับลดภาษี 2 ตัวแรก คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเล็งเห็นว่าหากปรับลดภาษีกลุ่มบริโภคลงมา จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาสร้างรากฐานและใช้เม็ดเงินในประเทศไทย

พิชัยเสนอ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เพิ่มภาษี VAT 15%
ภาพจาก : Youtube กรุงเทพธุรกิจ

สิ่งที่นักวิชาการหลายคนจับตามอง คือ ประเด็น Global Minimum Tax (GMT) หรือการเก็บภาษีนิติบุคคลระดับโลกขั้นต่ำ ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs) ที่มีสมาชิกกว่า 130 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงประเทศไทย โดยปัจจุบันกำหนดอัตราภาษีอยู่ที่ 15% รมว. กระทรวงการคลัง จึงมองว่า หากประเทศไทยปรับลดภาษีจาก 20% ลงมาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กัน อาจเป็นช่องทางที่จะแข่งขันด้านการลงทุนกับประเทศอื่น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้น

หากฟังดูผิวเผินแนวคิดข้างต้นเหมือนจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ด้วยการทำตามเทรนด์โลก และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ทว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ออกมาให้คำตอบแล้วว่า Global Minimum Tax นั้นมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำ เพื่อจุดประสงค์หลักคือป้องกันบริษัทข้ามชาติหลีกเลี่ยงภาษี

Advertisements

เนื่องจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลก ที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศมักวางแผนภาษีมาอย่างดี และได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีมากมาย ทำให้เสียภาษีในอัตราที่น้อยมาก ซึ่งแม้ OECD จะประกาศเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามเก็บเกินอัตราดังกล่าว และไม่มีผลบังคับว่าในแต่ละประเทศจะต้องจัดเก็บภาษีในเรทนี้เท่านั้น การที่ไทยจะคงภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 20% จึงไม่ใช่เรื่องผิด

ข้อดีและข้อเสียของการปรับลดภาษี 15%

สรุปได้ว่าแผนการลดเพดานภาษีนิติบุคคล ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาลมองว่าจะทำให้ขยายขอบเขตของกลุ่มทุนต่างชาติ ที่อาจตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ต้องแก้เกมด้วยการเพิ่มอัตราภาษีบางตัว เพื่อให้เกิดความสมดุลกัน ซึ่งนายพิชัยได้มองว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของไทยยับงอยู่ในระดับต่ำ จึงสามารถขยายเพดานเป็น 15% ได้

ภาพรวมของแผนปฏิรูปการจัดเก็บภาษีที่รองนายกฯ นำเสนอ จึงอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อคนไทยดังนี้

1. เสียภาษีแวตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิม 7% เป็น 15% ทำให้ประชาชนปรับตัวไม่ทันกับภาระค่าใช้จข่ายที่มากขึ้น ขณะที่รายได้ โดยเฉพาะเงินเดือนขั้นต่ำยังอยู่ในเกณฑ์เดิม

2. มีแนวโน้มเกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตต้องเสียภาษีมากขึ้นตามเพดานภาษีที่ปรับขึ้น จึงตั้งราคาสินค้าสูงกว่าเดิม เพื่อพยุงความอยู่รอด ดังนั้น ผู้บริโภคปลายน้ำจึงต้องรับผลกระทบในการจ่ายค่าสินค้าและบริการที่สูงขึ้นตามไปด้วย

3. กลุ่มชนชั้นกลางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการขึ้นภาษี VAT เป็น 15% โดยมีงานสึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่คนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากที่สุด คือกลุ่มคนมีรายได้ระดับปานกลาง ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยอาจไม่ได้ใช้บริการส่วนใหญ่ จากบริษัทที่ต้องจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ และสำหรับผู้มีรายได้สูงกลับเป็นคนที่ได้รับผลดี เนื่องจากได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีเงินได้บุคคละรรมดา และนิติบุคคลที่ลดลง (หากเป็นไปตามแผน) ทั้งยังมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างหลากหลาย จึงถือเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลดีหากมีการปรับแผนจัดเก็บภาษี

อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความเป็นธรมกับฝ่ายรัฐบาลและ รมว. กระทรวงการคลัง เนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆ อ้างอิงจากข้อมูลที่ปรากฏในการเสวนาเท่านั้น โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่าภาษีเงินได้ที่จะลดลงนั้น จะถูกนำไปถัวเฉลี่ยกับสิทธิลดหย่อนที่จำกัดมากขึ้น หรือมีแนวทางนำภาษีแวตที่เก็บเพิ่มขึ้น 15% ไปแจกจ่ายยังผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการใด และจะแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศมากน้อยแค่ไหน

ต้องรอติดตามต่อไปว่า รองนายกฯ จะออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมหรือไม่ หลังมีกระแสต่อต้านจากประชาชนบนโลกโซเชียลจำนวนมาก รวมถึงเสียงทักท้วงจากนักวิชาการหลายแขนง ที่แสดงความกังวลต่อแผนการปรับโครงสร้างที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของคนรากหญ้าและชนชั้นกลาง.

อ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Woralada

นักเขียนเรื่องไลฟ์สไตล์ ข่าวบันเทิง และประเด็นการเมือง เวลาว่างชอบดูซีรีส์ อ่านวรรณกรรม และไปคอนเสิร์ตเพื่อต่อพลังงานชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button