รัฐบาลเกาหลีใต้ ปัดตกคดี ฮันนิ NewJeans ถูกกลั่นแกล้ง ชี้ ไอดอลไม่ใช่แรงงาน
กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ ปัดตกคำร้อง ‘ฮันนิ NewJeans’ ปมถูกบูลลี่ในที่ทำงาน ได้รับการปฏิบัติไม่ดีจากพนักงานในค่ายต้นสังกัด โดยให้เหตุผลว่า เพราะ ‘ไอดอล’ ไม่ใช่ ‘แรงงาน’
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศ Korea JoongAng Daily รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ ตัดสินว่า ฮันนิ (Hanni) หนึ่งในสมาชิกวง นิวจีนส์ (NewJeans) “ไม่ถือเป็นแรงงาน” ตามกฎหมาย ซึ่งทำให้เธอไม่มีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครอง จากการล่วงละเมิดในที่ทำงาน ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงาน
สำนักงานแรงงานและการจ้างงาน ประจำกรุงโซล ประกาศปิดการสอบสวน คดีที่แฟนคลับของ ‘ฮันนิ NewJeans’ ยื่นฟ้อง หลังจากที่ฮันนิได้ออกมาให้การในสภาแห่งชาติเกาหลีใต้ว่า เธอเคยถูกผู้จัดการวงจากค่ายเพลงอื่นในสังกัด HYBE เมินเฉยใส่ ทั้งยังได้เปิดเผยถึงหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ทำให้เธอรู้สึกว่าถูกกีดกัน รวมถึงการถูกเพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านั้นด้วย
“เราปิดคดี เนื่องจากเป็นการยากที่จะถือว่าฮันนิเป็นลูกจ้าง ตามที่พระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานกำหนดไว้” สำนักงานฯ กล่าว
อ้างอิงตามกฎหมายแรงงาน คำว่า ลูกจ้าง หมายถึง บุคคล โดยไม่คำนึงถึงประเภทของอาชีพ ที่เสนอแรงงานให้กับธุรกิจ หรือสถานที่ทำงาน เพื่อจุดประสงค์ในการรับค่าจ้าง ซึ่งบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์แบบผู้ใต้บังคับบัญชากับนายจ้าง
การตัดสินใจของรัฐบาล ระบุว่า สัญญาการจัดการระหว่างฮันนิ และต้นสังกัด ADOR เป็นข้อตกลงระหว่าง “สองฝ่ายที่เท่าเทียมกัน” ทั้งยังไม่มีการระบุว่า “เธอเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของบริษัท”
สำนักงานแรงงาน ระบุเหตุผลที่ฮันนิไม่เข้าเกณฑ์การเป็นลูกจ้าง ไว้ดังนี้
- เธอไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเดียวกันกับพนักงานบริษัท
- เธอไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน หรือสถานที่ทำงานที่เฉพาะเจาะจง
- เธอแบ่งปันค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกับบริษัท
- เธอได้รับส่วนแบ่งกำไรแทนที่จะเป็นค่าจ้าง
- เธอยื่นภาษีในฐานะ “รายได้จากธุรกิจ” แทนที่จะเป็น “เงินเดือน” หรือ “ค่าจ้าง”
- เธอยอมรับทั้งกำไรและขาดทุน จากกิจกรรมของเธอ
สำนักงานฯ ยังอ้างอิง คำพิพากษาของศาลฎีกา ในปี 2019 ที่ระบุลักษณะสัญญาระหว่างศิลปิน และต้นสังกัดว่าเป็น “แบบคอมมิชชั่น” ไม่ใช่ “แบบจ้างงาน”
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ฮันนิ NewJeans ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญต่อวงการ K-Pop ด้วยการเป็นไอดอลคนแรกที่ขึ้นให้การในสภาแห่งชาติเกาหลีใต้ ปมถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากไฮบ์ (HYBE) ซึ่งศิลปินสาวได้มีการเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ ยอมรับว่า “ศิลปิน” คือ “มนุษย์”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นิวจีนส์ ได้ส่งหนังสือบอกกล่าว (certificate of contents) ถึง ADOR บริษัทต้นสังกัด ที่เป็นบริษัทภายใต้การดำเนินการของไฮบ์ (Hybe) เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขการละเมิดสัญญา โดยสมาชิกทั้งสี่กล่าวว่า พวกเธอจะยกเลิกสัญญา หากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง