ฟ้าแดงหลอน ลางร้าย สัญญาณภัยพิบัติ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น อุซางิ จ่อขึ้นฝั่งวันนี้
ท้องฟ้าฟิลิปปินส์ กลายเป็นสีแดงฉาน ชาวบ้านผวา หวั่นภัยพิบัติเตรียมโหมกระหน่ำรุนแรง หลังจากที่ทางการประกาศอพยพหนีตายพายุ อุซางิ ลูกที่ 5 เตรียมพัดเข้าฝั่ง
เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เฟซบุ๊กเพจ World Forum ข่าวสารต่างประเทศ รายงานว่า เกิดปรากฎการณ์ท้องฟ้าที่ประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นสีแดง ชาวบ้านหวั่น “ลางร้าย” ซ้ำเติมความเสียหายจากพายุโทราจี และพายุอุซางิที่จ่อถล่ม
ภาพฟ้าสีแดงฉาน เหนือท้องฟ้าเมืองดาเอ็ต จังหวัดคามารีเนสนอร์เต ประเทศฟิลิปปินส์ ถ่ายโดยชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อเวลา 04.40 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 กำลังกลายเป็นไวรัล พร้อมกับความกังวลของชาวบ้าน ที่เชื่อว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติ หรือลางร้าย
ชาวฟิลิปปินส์มีความเชื่อเรื่องท้องฟ้าสีแดงว่า เป็นสัญญาณบ่งชี้เหตุการณ์สำคัญในอนาคต เมื่อท้องฟ้าปรากฏสีแดงหรือสีส้ม จะเป็นเครื่องหมายของเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้น เช่น สงคราม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภัยพิบัติ หรือแม้แต่การมาถึงของวันสำคัญ
ความเชื่อนี้มักจะพบในหมู่ชาวบ้านและชนบท ซึ่งทำให้เกิดการตีความหรือการรอคอยเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในอนาคต เมื่อเห็นท้องฟ้ามีสีแดงหรือส้ม
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนี้ไม่ได้มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความเชื่อพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน ในหมู่ชาวฟิลิปปินส์
ขณะเดียวกัน สถานการณ์พายุในฟิลิปปินส์ ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะซุปเปอร์ไต้ฝุ่นอุซางิ ที่ทวีกำลังแรงขึ้น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงถึง 185 กม./ชม. พร้อมขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ตอนเหนือ ในวันนี้ (14 พ.ย. 67)
ทางการฟิลิปปินส์ ได้สั่งอพยพประชาชน เตรียมรับมือซุปเปอร์ไต้ฝุ่นอุซางิ และ “พายุหม่านยี่” ซึ่งเป็นพายุลูกที่ 5 และ 6 ที่ขึ้นฝั่งในรอบ 3 สัปดาห์
ประเทศไทยล่ะ ได้รับผลกระทบไหม?
กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่า พายุทั้ง 3 ลูก (โทราจี อุซางิ หม่านยี่) ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่อาจมีฝนฟ้าคะนอง และลมแรง ในบางพื้นที่ เช่น ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึง กทม. และปริมณฑล
ส่วนใครที่วางแผนเดินทางไป จีนตอนใต้ หรือ ฟิลิปปินส์ ในช่วงนี้ ขอให้ติดตามข่าวสาร และตรวจสอบสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
อ่านข่าวอื่น ๆ
- ตอบแล้ว “ตากระตุก” ไม่ใช่ลางร้าย แต่เป็นสัญญาณเตือน จากร่างกาย
- เคลียร์ชัด พายุ 2 ลูก “หยินซิ่ง-โทราจี” เข้าเวียดนาม กระทบไทยหรือไม่?
- อัปเดตเส้นทางพายุ “หยินซิ่ง” เคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ ยันไม่กระทบไทย