ข่าวต่างประเทศ

ญี่ปุ่น ฟ้อง ‘เมต้า’ 100 ล้าน เหตุปล่อยโฆษณาปลอม-หลอกลงทุน เกลื่อน!

‘เมต้า’ บริษัทแม่ของแพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม’ ถูกฟ้องในญี่ปุ่น รวมมูลค่าเกือบร้อยล้านบาท เหตุปล่อยปละละเลยให้มีการโฆษณาปลอม หลอกลงทุน ซ้ำอ้างชื่อเหล่าคนดัง

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศ KYODO NEWS รายงานว่า ขณะนี้แพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก (Facebook) และ อินสตาแกรม (Instagram) กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ เหตุเพราะบริษัทแม่อย่าง เมต้า แพลตฟอร์มส์ อิงค์ (Meta) ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในประเทศญี่ปุ่น โทษฐานปล่อยปละละเลยให้มีการเผยแพร่โฆษณาปลอมที่หลอกลวงให้ผู้ใช้งานร่วมลงทุน ผ่านการแอบอ้างชื่อเสียงของเหล่าคนดัง

Advertisements

โฆษณาปลอมเหล่านี้ปรากฏบนแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram โดยมีการแอบอ้างชื่อของ “ยูซากุ มาเอซาวะ (Yusaku Maezawa)” มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้ง Zozo Inc. บริษัทค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ และเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อปี 2021

เบื้องต้นผู้เสียหายกว่า 30 ราย รวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน 435 ล้านเยน หรือประมาณ 96 ล้านบาท โดยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงในโอซาก้า โกเบ โยโกฮาม่า ชิบะ และไซตามะ โดยระบุว่า ‘เมต้า’ ไม่ได้ดำเนินการป้องกันการหลอกลวง อย่างรัดกุมเพียงพอ

Facebook

ผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาปลอม และโอนเงินไปยังบัญชีที่กำหนดไว้ โดยพวกเขาโต้แย้งว่า เมต้า มีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหา ของโฆษณา และไม่ควรอนุญาตให้โพสต์บนโซเชียลมีเดีย หากสามารถคาดการณ์ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกรายที่ถูกแอบอ้างชื่อในครั้งนี้ด้วย ซึ่งก็คือ “ทาคาฟุมิ โฮริเอะ (Takafumi Horie)” ผู้ก่อตั้งบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ต Livedoor โดยก่อนหน้านี้เขาได้ร้องขอให้เมต้าลบโฆษณาปลอม แต่ทางบริษัทกลับเพิกเฉย จนนำไปสู่ความเสียหายที่มากขึ้น

Advertisements

บัดนี้ ทีมทนายความกำลังพิจารณายื่นฟ้องร้องเพิ่มเติม “หากมีผู้เสียหายออกมาร้องเรียนมากขึ้น เราก็จะได้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ในการต่อต้านการโฆษณาที่เป็นเท็จ เราอยากให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบติดต่อเราเข้ามา”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ เมต้า เคยถูกฟ้องร้องจากผู้เสียกาย 4 ราย ในคดีลักษณะเดียวกันที่เมืองโกเบ ซึ่งทางบริษัทก็กำลังพยายามขอให้ยกฟ้องข้อเรียกร้องค่าเสียหาย

คดีความนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการแอบอ้างชื่อเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานควร “ตรวจสอบ” ข้อมูล อย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจลงทุน หรือทำธุรกรรมใด ๆ บนโลกออนไลน์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button