เลิกได้เลิก เล่นมือถือตอนกลางคืน เสี่ยงป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
เที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
มีการเตือนหลายครั้งเกี่ยวกับแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เพราะส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งดวงตาและสุขภาพโดยรวม งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการใช้โทรศัพท์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
การศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Regional Health – Europe ซึ่งได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างเกือบ 85,000 คน โดยผู้เข้าร่วมต้องใส่สายรัดข้อมือที่สามารถตรวจวัดการได้รับแสงต่าง ๆ เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 40 – 69 ปี
ผลการศึกษาพบว่าคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (ซึ่งเป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อย) มักมีการสัมผัสกับแสงประดิษฐ์นี้ระหว่างเวลา 00.30 น. ถึง 06.00 น.
กลุ่มที่สัมผัสกับแสงในตอนกลางคืนมากที่สุด 10% มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สูงกว่าคนในกลุ่มที่สัมผัสกับแสงในตอนกลางคืนในระดับต่ำที่สุดถึง 67%
นอกจากนี้ยังพบว่าความเข้มของแสงในช่วงกลางคืนไม่ว่าจะเป็นแสงแรงหรือแสงอ่อน มีผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของระบบการเผาผลาญอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักปรากฏร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคนี้มีค่าใช้จ่ายสูง และยังทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
การศึกษาเดียวกันยังระบุว่าการสัมผัสกับแสงประดิษฐ์ โดยเฉพาะแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือโทรทัศน์ ทำให้คนหลับยากขึ้น เช่นเดียวกับแสงสีเหลืองจากโคมไฟอ่านหนังสือ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Monash ในออสเตรเลียได้สรุปผลงานของพวกเขาและแนะนำว่า “เราควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ และประหยัดในการลดภาระด้านสุขภาพทั่วโลกที่เกิดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2”
งานวิจัยก่อนหน้านี้ยังชี้ให้เห็นว่าการสัมผัสกับแสงประดิษฐ์อาจรบกวนระบบการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การหลั่งอินซูลินเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับความผิดปกติของระบบเผาผลาญ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง