การเงินเศรษฐกิจ

วิธีแก้ไข ‘บัตรคนจน’ ยังไม่ได้ ‘เงินดิจิทัล’ 3 ช่องทาง รีบทำก่อนเฟส 2

เปิดสาเหตุโอนเงินดิจิทัลไม่ผ่าน ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังไม่ได้รับเงิน 10,000 บาท ต้องแก้ไขอย่างไร แนะให้เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น ภายใน 18 ต.ค. 67

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 หรือ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยตั้งแต่วันที่ 25 – 30 กันยายนที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ทยอยโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) และกลุ่มคนพิการ รวมทั้งสิ้นราว 14,550,000 คน และในวันนี้ (30 กันยายน 2567) ก็เป็นวันสุดท้ายของการโอนเงินดิจิทัล เฟส 1 ให้แก่ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

Advertisements

หลังจากจบการโอนเงินเฟสแรก พบว่า กรมบัญชีกลางยังดำเนินการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 319,8180 ราย ซึ่งสาเหตุของการโอนเงินไม่ผ่านนั้นมีหลายประการ โดยจะแบ่งออกตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

‘บัตรคนจน’ ไม่ได้เงินดิจิทัล 10000 บาท ต้องแก้ไขอย่างไร

สาเหตุที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ยังไม่ได้รับเงินหมื่นนั้น อาจเป็นเพราะไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด และ เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง

ดังนั้นผู้มีสิทธิรับเงิน แต่ยังไม่ได้เงินในช่วงเฟส 1 (วันที่ 25 – 30 กันยายน 2567) ขอให้รีบดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

‘คนพิการ’ ไม่ได้เงินดิจิทัล 10000 บาท ต้องแก้ไขอย่างไร

เบื้องต้นพบกลุ่มผู้พิการอีกกว่า 90,000 คน ยังดำเนินการโอนเงินไม่สำเร็จ มีสาเหตุมาจากบัตรผู้พิการหมดอายุ บัตรผิดพลาด และยังไม่ได้ระบุช่องทางในการจ่ายเงิน ซึ่งจะต้องรีบไปประสานงานกับทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อย่างเร็วที่สุดภายในวันที่ 18 กันยายน 2567 เพื่อให้ทันการโอนเงินรอบเก็บตก โดยจะมีการโอนซ้ำอีก 3 ครั้ง ในวันที่ 22 ตุลาคม, วันที่ 22 พฤศจิกายน และ วันที่ 22 ธันวาคม 2567

ส่วนคนพิการที่ไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ เพื่อตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ตกหล่น แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นยืนยันว่า ไม่มีคนพิการที่ตกหล่นแต่อย่างใด พบเพียงผู้พิการที่สถานะยังไม่สมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งสามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามวิธีดังต่อไปนี้

Advertisements

1. คนพิการที่มีสิทธิ แต่บัตรหมดอายุ จำนวน 51,842 คน ให้ไปต่ออายุบัตรให้เรียบร้อย ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567

2. คนพิการที่มีสิทธิ์ แต่บัตรไม่สมบูรณ์ จำนวน 22,598 คน ให้ไปทำบัตรใหม่ให้เรียบร้อย ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567

3. คนพิการที่มีสิทธิ โดยที่ผ่านมาเป็นผู้ไม่ประสงค์รับเบี้ยและไม่มีสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ต้องการรับเงิน 10,000 บาท จำนวน 18,148 คน ให้ไปดำเนินการผูกพร้อมเพย์ กับเลขบัตรประชาชน ภายใน 16 ธันวาคม 2567 หรือ แจ้งยื่นขอเบี้ยที่ท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน ภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567

4. ผู้พิการที่ไม่มีฐานกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ (พก.) แต่ได้รับเบี้ยความพิการ มีจำนวน 1,391 คน (เป็นแบบเล่ม) ให้ไปทำบัตรใหม่ให้เรียบร้อย ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567

5. คนพิการที่มีสิทธิ ยังไม่ได้ยื่นขอรับเบี้ยความพิการ ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่สามารถผูกพร้อมเพย์ได้ ให้แจ้งยื่นขอรับเบี้ยความพิการที่องค์กรปกครอง

หากไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ในเวลาที่กำหนดจะถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ

ช่องทางตรวจสอบสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th/welfare/home
  • เว็บไซต์ https://govwelfare.cgd.go.th
  • เว็บไซต์ https://govwelfare.dep.go.th/check เฉพาะคนพิการ
  • แอปพลิเคชัน “รัฐจ่าย” โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
  • ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทร. 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ประชาชสามารถสอบถามข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทรศัพท์หมายเลข 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง และสอบถามข้อมูลคนพิการได้ทางศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button