ข่าว

‘พายุโซนร้อนซูลิก’ อ่อนกำลังเป็น ดีเปรสชัน ส่งผลให้หลายจังหวัดฝนตกหนัก-เสี่ยงท่วม

กรมอุตุฯ ออกประกาศฉบับ 12 ‘พายุโซนร้อนซูลิก’ อ่อนกำลังลงเป็น ‘ดีเปรสชัน’ แล้ว ส่งผลให้พื้นที่ 54 จังหวัดในไทย มีฝนตกหนักถึงหนักมาก เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 หน่วยงานภาครัฐได้ประกาศเตือนหลายพื้นที่ในไทยที่อาจได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนซูลิก ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 19 กันยายน และยาวไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2567

Advertisements

อัปเดตสถานการณ์ล่าสุดวันนี้ (20 กันยายน 2567) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 12 (204/2567) เรื่อง พายุโซนร้อนซูลิก โดยเผยว่า ขณะนี้พายุโซนร้อนดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว ศูนย์กลางอยู่บริเวณแขวงคำม่วน ประเทศลาว ซึ่งพายุลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนืออย่างช้า ๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงต่อไป ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 54 จังหวัด มีฝนตกหนักถึงหนักมากกและมีลมแรง เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน

ประกาศ ฉบับที่ 12 พายุโซนร้อนซูริก
ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา

ประกาศฉบับเต็มระบุข้อความไว้ว่า “เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (20 ก.ย. 67) พายุโซนร้อน “ซูลิก” บริเวณประเทศลาวได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางบริเวณแขวงคำม่วน ประเทศลาว ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดนครพนม ประมาณ 100 กิโลเมตร หรืออยู่ที่ละติจูด 18.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนืออย่างช้า ๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ซึ่งจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้

วันที่ 20 กันยายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

Advertisements

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 21 กันยายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

ประกาศ ฉบับที่ 12 พายุโซนร้อนซูริก
ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา

วันที่ 22 – 23 กันยายน 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดระนอง และพังงา

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร

ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ฉบับที่ 12 พายุโซนร้อนซูริก
ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button