ตอบแล้ว ‘ปลูกฝี’ ป้องกันฝีดาษลิงไหม ใครเกิดทัน เช็กแผลที่แขนรู้เลย
รู้คำตอบ ‘วัคซีนฝีดาษ’ ที่เคยปลูกฝีช่วยกันฝีดาษลิงหรือไม่ อธิบายความต่างระหว่างแผลเป็นจากไข้ทรพิษ และรอยแผลหลังได้รับวัคซีนวัณโรค มีรอยที่แขนไม่ได้แปลว่าใช่ ตรวจสอบให้ดีก่อนวางใจ
หลังจากมีข่าวว่า “โรคฝีดาษลิง” หรือ เอ็มพ็อกซ์ (Mpox) เริ่มบุกไทยแล้ว หลายคนเริ่มกังวลใจ และมองหาวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคระบาดนี้ได้ จนทำให้เกิดคำถาม ‘วัคซีนฝีดาษ’ (smallpox) ที่เคยได้รับจะสามารถป้องกันอาการจากฝีดาษลิงได้หรือไม่? ซึ่งข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า “การฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ ดังนั้นผู้สูงวัยที่เคยฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนจะยังคงมีภูมิคุ้มกันป้องกันฝีดาษลิงได้”
ทั้งนี้การฉีดวัคซีนฝีดาษ หรือที่บางคนเรียกว่า “ปลูกฝี” เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ใน พ.ศ. 2378 โดยมีหมอบลัดเลย์เป็นผู้นำเข้ามา ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้ออก พ.ร.บ. จัดการปลูกฝีไข้ทรพิษ มีนโยบายให้คนไทยอย่างน้อย 80% ได้รับวัคซีนดังกล่าวเพื่อควบคุมโรค
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าโรคระบาดนี้ได้ทุเลาลงจนไม่พบผู้ติดเชื้อ ทำให้ประเทศไทยยกเลิกการปลูกฝีตั้งแต่ พ.ศ. 2517 และสิ้นสุดการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2523 เนื่องจากองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าโรคฝีดาษคนได้หมดไปแล้ว นั่นหมายความว่าผู้ที่เกิดหลัง พ.ศ. 2023 หรือมีอายุต่ำกว่า 44 ปี จะไม่ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ฝีดาษ
วิธีตรวจสอบอีกอย่างคือดูรอยแผลเป็นที่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนบริเวณแขน หากพบว่ามี “รอยบุ๋ม” แสดงว่าเคยได้รับวัคซีนฝีดาษ สาเหตุที่วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษทิ้งรอยบุ๋มไว้ เนื่องจากใช้มีดปลายแหลมในการฉีด ทำให้เกิดรอยบากบริเวณผิวหนัง โดยแพทย์บางส่วนให้ความเห็นว่าคนที่เคยรับวัคซีนนี้ อาจช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงได้
แต่ถ้าสังเกตแผลที่ต้นแขนแล้วมี “แผลนูน” แปลว่าเคยฉีดวัคซีนวัณโรค (BCG) ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ซึ่งเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคชนิดลุกลาม นิยมฉีดที่หัวไหล่ซ้าย โดยใช้วิธีสะกิดเข้าไปที่ใต้ผิวหนัง ทำให้มีแผลเป็นที่มีลักษณะนูนขึ้นมา
การสังเกตลักษณะแผลจากการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ บางคนอาจเข้าใจว่าเคยปลูกฝีมาแล้ว จึงเกิดความชะล่าใจ ไม่ระวังโรคฝีดาษลิงที่กำลังระบาดหนักในขณะนี้ ซึ่งการมีแผลเป็นที่ต้นแขน ไม่ได้แปลว่าคุณเคยได้รับวัคซีนฝีดาษมาแล้วเสมอไป ดังนั้น หากจำประวัติการรับวัคซีนไม่ได้ หรือไม่แน่ใจ ต้องเช็กให้ดีว่าแผลแบบไหนคือการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ เพราะหากเป็นแผลจากวัคซีนวัณโรค จะไม่สามารถบรรเทาหรือป้องกันการระบาดของโรคเอ็มพ็อกซ์ได้เลยแม้แต่น้อย
อ้างอิง : โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลศิครินทร์, กรมควบคุมโรค
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง