ข่าวการเมือง

ประวัติ “อุดม สิทธิวิรัชธรรม” หนึ่งในตุลาการศาลรธน. ตัดสินยุบ “ก้าวไกล”

ทำความรู้จัก นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 1 ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอน “เศรษฐา” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และมีส่วนร่วมในการตัดสินคดีการเมืองยุบพรรคก้าวไกล พบทรัพย์สินรวยอู้ฟู่กว่า 8 ล้านบาท

การเมืองร้อนฉ่าอีกครั้ง หลังจากที่โซเชียลแห่แชร์คลิปของ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเปิดประเด็นแซะพรรคก้าวไกล ลั่นว่า ต้องขอบคุณที่ศาลฯ ตัดสินยุบพรรค เพราะได้ไปตั้งพรรคใหม่ แถมได้รับเงินบริจาคจากประชาชนไปกว่า 30 ล้านบาท นอกจากนี้นายอุดมยังเคยเป็นหนึ่งในเก้าตุลาการศาลรธน. สั่งถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งอีกด้วย

ชีวิตส่วนตัวของ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เกิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2517, เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2518 และนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2525

เส้นทางการเมืองที่ผ่านมา

ก่อนที่นายอุดมจะเข้ารับตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเจ้าตัวเคยเป็นนายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2519 – 30 กันยายน 2524 จากนั้นจึงได้รับตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง และผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ ช่วง 1 ตุลาคม 2524 – 31 ตุลาคม 2534

ก่อนจะมาเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 – 10 เมษายน 2540

ทั้งนี้ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ได้รับมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) จากนั้นเจ้าตัวก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่ทางการเมืองอีกครั้งด้วยการรับหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ นายเศรษฐา ทวีสิน หลุดจากเก้าอี้นายก และเป็นหนึ่งในตุลาการที่สั่งยุบพรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้

ผลงานอื่น ๆ

  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (11 เมษายน 2540 – 2 มิถุนายน 2542)
  • ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6 (3 มิถุนายน 2542 – 1 ตุลาคม 2549 )
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ( 2 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2550)
  • ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5 และประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3 (1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552)
  • รองประธานศาลอุทธรณ์ (1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2554)
  • อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 และ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ (๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖)
  • ผู้พิพากษาศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557)
  • ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2559)
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2561)
  • ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2561 – 25 กุมภาพันธ์ 2563)

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสื่อมวลชนเมื่อปี 2563 ว่า นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 มีทรัพย์สินมากถึง 8,656,369 บาท เป็นเงินฝาก 2,502,796 บาท เงินลงทุน 2,099,707 บาท ที่ดิน 2.5 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1 ล้านบาท รถยนต์ 500,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 833,816 บาท ทรัพย์สินอื่น 120,000 บาท มีหนี้สิน 308,413 บาท

รายได้ต่อปี (โดยประมาณ) 4,370,000 บาท เป็นเงินเดือน 2,640,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 1,530,000 บาท ดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท เงินปันผล 80,000 บาท จำหน่ายกองทุน 1 แสนบาท มีรายจ่ายรวม 1.7 ล้านบาท ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ศาลยุติธรรม 4 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 1.2 ล้านบาท ชำระหนี้ 1 แสนบาท การกุศล 6 หมื่นบาท งานสังคม 3 แสนบาท

ปมคลิปหลุดแซะพรรคก้าวไกล

เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 เฟซบุ๊ก Tanyatorn Rojmahamongkol ได้แชร์คลิปของ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม พูดผ่านไมค์ กล่าวถึงพรรคก้าวไกลว่า ต้องขอบคุณตนที่มีส่วนในการสั่งยุบพรรคก่อนหน้านี้ เพราะไม่ต้องร้องไห้ฟรี แถมหลังจากโดนยุบพรรคไปไม่ถึง 2 วัน ก็ได้เงินบริจาคไป 20-30 ล้านบาท สมาชิกเก่าเข้าไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกก็ไม่เห็นจะเดือดร้อน

การกล่าวพาดพิงยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะตุลาการศาลรธน.ท่านนี้ยังได้อ้างว่าตนผ่านหลักสูตรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย) กกต. มาแล้ว ทำให้เป็นคนที่รู้เรื่องราวต่าง ๆ เยอะมากเพราะส่วนใหญ่ที่เรียนด้วยกันก็มีแต่พรรการเมือง

“ผมผ่านหลักสูตรของ กกต.มาแล้ว ทำให้รู้อะไรเยอะ ไปเรียนกับพวกพรรคการเมืองเยอะ ก็เลยมีพรรคพวกเยอะแยะ ฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้เยอะแยะ จริงบ้าง เท็จทั้ง แต่ก็มีความรู้ ทำให้เอามาปรับใช้กับการทำงาน บางอย่างไม่ชัวร์ก็โทรถาม บอกทำกันมาตั้งนานแล้ว ผมก็เลยบอกไม่ปรากฏเรื่องก็ไม่เป็นเรื่อง ถ้าปรากฏก็เป็นเรื่อง แล้วก็โวยวาย แล้วแต่มุมมอง คนเชียร์ก็สุดใจขาดดิ้น ไม่ฟังคนอื่น ฟังสั้นๆ พอแล้วว่าไม่ควรยุบ แต่ยุบเพราะอะไรไม่รู้ไม่สนใจ”

“ยุบปั๊บ เอ้า ไปเปิดพรรคใหม่ได้ เอ้า ไม่ข้องใจแล้วหรือ? เมื่อวานร้องไห้อยู่ พรรคเราจะไปแล้ว อย่างนู้นอย่างนี้ โอ้ สองวันเลิก จากน้ำตาเป็นเสียงหัวเราะ ยักไหล่แล้วไปต่อ เงิน 20 ล้าน​” ในคลิปเมื่อพูดจบประโยคนี้ 1 ใน 9ตกลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ขึ้นเสวนาก็หัวเราะลั่นออกมา”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : ศาลรัฐธรรมนูญ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button