‘หมอยง’ เตือน ‘ฝีดาษลิง’ สายพันธุ์ใหม่ที่ต้องระวังในไทย ติดง่าย-อาการรุนแรง
ข่าวสารสุขภาพ ‘หมอยง’ เตือนภัย ‘ฝีดาษลิง’ สายพันธุ์ใหม่ Clade 1b ติดง่ายผ่านฝอยละอองอากาศ อาจระบาดหนักทั้งในไทยและทั่วโลก อาการรุนแรงถึงชีวิต เตรียมเฝ้าระวังเคร่งครัด
ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด สำหรับการแพร่ระบาดของ โรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (MPOX) ที่ก่อนหน้านี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิง ในแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกอย่างเป็นทางการ เหตุเพราะมีการแพร่กระจายของไวรัสรูปแบบใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม
ล่าสุด (19 สิงหาคม 2567) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข่าวสารสาธารณสุข ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เตือนภัยประชาชนชาวไทยให้เฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ใหม่ เผยว่า Clade 1b เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์ก่อนหน้า ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดหนักในคองโก ยอดผู้ป่วยทะลุหมื่นราย พบได้ทั้งชายและหญิง
สายพันธุ์ใหม่นี้อาการของรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซ้ำร้ายผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก ติดต่อง่ายจากการอาศัยใกล้ชิด และติดต่อผ่านฝอยละอองอากาศ ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยต้องเฝ้าระวังอย่างมาก ต้องวินิจฉัยให้เร็ว และแยกสายพันธุ์ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจาย
ข้อความในโพสต์ระบุไว้ว่า “ฝีดาษวานร MPOX สายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ยง ภู่วรวรรณศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 19 สิงหาคม 2567
เดิมการระบาดของฝีดาษวานร ใน 2 ปีที่ผ่านมา ระบาดมากนอกทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์กลุ่ม 2 Clade 2b รวมทั้งที่พบในประเทศไทยมากกว่า 400 ราย สายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง พบในผู้ใหญ่ เพศชาย ส่วนใหญ่จะเป็นการสัมผัสจากเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในชายรักชาย 98% จึงเป็นเพศชาย
สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศคองโก ในปีนี้มีผู้ป่วยนับหมื่นราย และแพร่กระจายไปหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 Clade 1 และมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Clade 1b สายพันธุ์นี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ชายและหญิง และที่เสียชีวิตมากส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่า สายพันธุ์กลุ่ม 2 การติดต่อนอกจากสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังพบว่าฝอยละอองทางการหายใจ ก็สามารถทำให้ติดได้
สายพันธุ์นี้จึงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ทุกรายของฝีดาษวานร จะต้องมีการเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และแยกสายพันธุ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อมาตรการการป้องกันไม่ให้แพร่กระจายของสายพันธุ์กลุ่มที่ 2 ในประเทศไทย”
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 5 – 20 วัน โดยจะขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่สัมผัส โดยอาการเริ่มแรกที่สังเกตได้คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นราว ๆ 4 – 5 วัน ก็จะมีผื่นจำนวนมากขึ้นบริเวณแขน ขา ลำตัว รวมถึงใบหน้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อนามัยโลก ประกาศด่วน ‘ฝีดาษลิง’ ในแอฟริกา เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก
- ‘ฝีดาษลิง’ ในไทยติดเชื้อพุ่ง 24 ตายเพิ่ม 1 แนะผู้ป่วย HIV อย่ามีเซ็กซ์คนแปลกหน้า
- เปิด 6 สาเหตุ ฝีดาษลิงระบาดหนัก ‘หมอยง’ ชี้ ประเทศกำลังพัฒนาควบคุมยาก