อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

ตอบสาเหตุ “วันเข้าพรรษา” ทำไมไม่มีวันหยุดชดเชยวันธรรมดา

ธนาคารแห่งประเทศไทย ตอบแล้ว ในเดือนกรกฎาคม 2567 แม้จะมีวันหยุดยาว 3 วันติดต่อกัน คือวันที่ 20-22 กรกฎาคม เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา แต่จะมีวันหยุดชดเชยเพียง 1 วันเท่านั้น คือวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการชดเชยสำหรับวันอาสาฬหบูชาที่ตรงกับวันเสาร์ ใครที่กำลังวางแผนเที่ยว หรือเดินทางไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดยาวเช็กให้ชัวร์ไม่กดลาเก้อ

สาเหตุที่ไม่หยุดชดเชยวันเข้าพรรษา

อ้างอิงตามประกาศจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประจำปี พุทธศักราช 2544 ข้อที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง วันหยุดชดเชยของทางราชการ ระบุไว้ว่า

“สำหรับวันหยุดราชการประจำปีวันใด ตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ สมควรให้คงหลักการให้มีวันหยุดชดเชยไว้ โดยให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันนั้นไปหยุดในวันทำการถัดไป แต่ทั้งนี้ไม่ให้หยุดชดเชยเกิน 1 วัน ส่วนกรณีวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลติดต่อกัน เมื่อรวมวันหยุดชดเชยไม่ให้มีวันหยุดติดต่อกันเกิน 4 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจ และเป็นมาตรฐานเดียวกับวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน

ประกาศจากสำนักเลขาธิการคณะนายกรัฐมนตรี กำหนดเรื่องวันหยุดชดเชย หลังวันหยุดราชการ มีได้เพียง 1 วัน

ดังนั้น วันหยุดยาวในเดือนกรกฎาคมปีนี้ จึงมีวันหยุดชดเชยเพียงวันเดียว คือ วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญที่หลายองค์กรยึดเป็นเกณฑ์ในการจัดทำปฏิทินวันหยุดประจำปี ก็ได้ออกประกาศว่า “เห็นควรกำหนดให้วันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนตามความเห็นของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นวันหยุดทำการแทนวันเข้าพรรษา” โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่ถูกนับให้เป็นหยุดราชการในประเทศไทย

สรุปได้ว่าวันหยุดชดเชยที่เกิดขึ้น ต่อเนื่องจากวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ในปี 2567 มีได้เพียง 1 วัน เพราะวันหยุดดังกล่าว ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ เพราะวันหยุดชดเชยในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคมนี้ ถูกนับเป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา เนื่องจากเป็นวันที่มีความสำคัญทางศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชน มากกว่าวันเข้าพรรษาที่มีความสำคัญต่อพระภิกษุสงฆ์

กิจกรรมหล่อเทียนพรรษา เป็นกิจกรรมสำคัญที่ชาวพุทธในประเทศไทย นิยมทำในวันเข้าพรรษา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ , ธนาคารแห่งประเทศไทย

Woralada

นักเขียนเรื่องไลฟ์สไตล์ ข่าวบันเทิง และประเด็นการเมือง เวลาว่างชอบดูซีรีส์ อ่านวรรณกรรม และไปคอนเสิร์ตเพื่อต่อพลังงานชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button