สุขภาพและการแพทย์

รวม “สารพิษ” อันตรายถึงชีวิต ไม่ได้น่ากลัวแค่ไซยาไนด์

ไซยาไนด์มีพิษร้ายแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้อย่างฉับพลัน แต่นอกจากสารอันตรายอย่างไซยาไนด์แล้ว ยังมีสารพิษอื่นที่ปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และทำให้ถึงตายได้เช่นกัน

จากรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ณ โรงแรมดังย่านราชประสงค์ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 พบสาร Super toxin ที่คาดว่าจะเป็นพิษในกลุ่ม ไซยาไนด์ ถือเป็นคดีฆาตกรรมด้วยการวางยาพิษ ต่อจากคดีแอม ไซยาไนด์ วันนี้ The thaiger จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษอื่น ๆ ที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ และบางชนิดมีพิษร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ไม่ต่างจากไซยาไนด์ มารวมไว้ในบทความนี้

ไซยาไนด์

สารไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีพิษสูงมาก หากได้รับสารในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน ไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการสัมผัสทางผิวหนัง การสูดดม และการกิน

ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มีพิษสูง อาจทำให้เสียชีวิตได้

พิษจากไซยาไนด์จะทำให้กระบวนการออกซิเดทีฟฟอสโฟรีเลชัน (Oxidative phosphorylation) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยสร้าง ATP (Adenosine triphosphate) หยุดลง เซลล์ในร่างกายจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากออกซิเจนได้ ผู้ได้รับสารพิษจึงมีอาการทรุดลงเรื่อย ๆ และอาจเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องจากแพทย์

ไซยาไนด์ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด เพราะในเมล็ดของผลไม้บางชนิด เช่น แอปเปิล พีช และลูกแพร์ รวมถึงหน่อไม้ดิบ และมันสำปะหลัง มีสารไซยาไนด์เจือปนอยู่ การบริโภคพืชพันธุ์กลุ่มนี้บ่อยครั้ง จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการรับสารไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายได้

อาการเบื้องต้นเมื่อได้รับไซยาไนด์ คือ ปวดหัว อาเจียน เจ็บหน้าอก และปวดท้อง อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการทางกายภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวหนังมีสีแดง รู้สึกคัน ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ และอาจทวีความรุนแรงขึ้น จนเกิดอาการชัก หมดสติ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวได้รับสารไซยาไนด์ ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น อยู่ให้ห่างจากสถานที่ที่มีสารพิษ ตัดเสื้อผ้าหรือนำวัสดุที่ปนเปื้อนสารออก หากสัมผัสโดนร่างกายควรรีบล้างออกทันทีเป็นเวลาต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจากแพทย์

สารปรอททำให้ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

สารปรอท

สารปรอท (Mercury) มีลักษณะเป็นโลหะมันวาวคล้ายเงิน อยู่ได้ทั้งในสถานะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ความน่ากลัวของสารปรอท คือ สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แบตเตอร์รี วุสดุอุดฟัน เทอร์โมมิเตอร์ สมุนไพรบางชนิด เครื่องสำอาง และอาจปนเปื้อนในอาหารทะเลบางชนิดด้วย

หากร่างกายได้รับสารปรอทอาจทำให้มีอาการได้หลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บหน้าอก มีผื่นแดง เจ็บคอ ไปจนถึงอาการที่ร้ายแรงขึ้น อาทิ ระคายเคืองปอด มีปัญหาด้านสายตาและการมองเห็น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โลหิตจาง

อันตรายของสารพิษชนิดนี้ ส่งผลทั้งต่อระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท ทั้งยังอาจส่งผลร้ายต่อสมองและหัวใจ รวมถึงทำให้ทารกในครรภ์มารดาได้รับผลกระทบด้วย

โดยผลที่ร้ายแรงสุดของสารปรอท คือ ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

เนื่องจากสารปรอทเป็นสารพิษที่ปะปนในผลิตภัณ์ ของใช้ และอาหารจำนวนมาก จึงควรหมั่นตรวจเช็กว่าทุกอย่างที่ใช้ หรืออาหารที่กิจ รวมถึงเครื่องสำอางต่าง ๆ มีส่วนผสมของปรอทหรือไม่ หากพบว่าสิ่งรอบตัวเจือปนสารปรอทควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือรับประทาน หากอยู่ในสถานที่ที่มีสารปรอทรั่วไหล ควรรีบออกจากพื้นที่ หากไม่สามารถออกมาได้ทันที ควรเปิดหน้าต่าง หรือใช้ลมเป่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมอากาศที่ปนเปื้อนสารพิษ

โบท็อกซ์ หรือ Botulinum toxin หากใช้ในปริมาณมากไป อาจทำให้กล้ามเนื้อหน้า อ่อนแรงได้

โบทูลินัมท็อกซิน

โบทูลินัมท็อกซิน (botulinum toxin) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (clostridium botulinum) หรือมีชื่อที่คุ้นหูกันว่า “โบท็อกซ์” สารชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มธุรกิจเสริมความงาม เนื่องจากโบทูลินัมท็อกซินช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับ และเรียบตึงขึ้นได้ แม้ว่าจะมีผู้ทำสารชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย แต่การฉีดโบทูลินัมท็อกซินยังคงมีความเสี่ยงสูง และควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

การใช้ “โบท็อกซ์” อย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดโรคโบทูลิซึ่ม (Botulism) ได้ โดยมีอาการ คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้ เพราะสารพิษเข้าไปส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่ช่วยในการหายใจ

สารโบทูลินัมท็อกซินสามารถปนเปื้อนสู่ร่างกายได้จากหลายสาเหตุ เช่น รับประทานอาหารที่มีเชื้อ clostridium botulinum ซึ่งมักอยู่ในบรรจุภัณฑ์อาหารแบบสุญญากาศ อาทิ ปลากระป๋อง หรือติดเชื้อการแผลที่มีแบคทีเรียดังกล่าว รวมถึงการฉีดโบท็อกซ์ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และฟื้นฟูเป็นเวลานาน

หากจะกินอาหารที่มีสารที่เจือปน หรือฉีดโบท็อกซ์ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลเสีย ที่อาจมีมากกว่าผลดี หากใช้หรือบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสม

สารหนูเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณไม่มาก สามารถขับออกทางปัสสาวะได้

สารหนู

สารหนู (arsenic) เป็นสารเคมีกึ่งโลหะที่มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งสารนี้สามารถพบได้ตามธรรมชาติ หรืออยู่ในรูปแบบที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักจะพบในเหมือนแร่ จากกระบวนการหลอมแร่ต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง โคบอลต์ เป็นต้น

สารหนูมีประโยชน์หลายประการเชิงอุตสาหกรรม เพราะสารเคมีนี้ช่วยถนอมหนังสัตว์ รักษาเนื้อไม้อัด ใช้ผลิตแก้วบางชนิด และกำจัดศัตรูพืชได้ อีกทั้งในทางการแพทย์ยังใช้สารหนูรักษาโรคบางชนิดด้วย เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว และใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

อย่างไรก็ตาม โทษของสารหนูนั้นยังถือว่ามีมากกว่าข้อดี เพราะสารพิษนี้อาจส่งผลต่อร่างกายจนทำให้เสียชีวิตได้ หากสูดดมหรือสัมผัสมากเกินไป โดยอาจมีอาการเบื้องต้น เช่น เจ็บคอ มีอาการบวมแดงตามผิวหนัง เป็นต้น

ถ้าได้รับสารหนูผ่านการรับประทานอาหารปนเปื้อน อาจทำให้ปวดท้อง อาเจียน มีอาการเหน็บชา มีรอยฟกช้ำ เป็นตะคริว หรือกระทั่งมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

โดยปกติมนุษย์สามารถขับสารหนูออกจากร่างกายได้ผ่านทางปัสสาวะ หากรับเข้าไปในปริมาณน้อย แต่หากได้รับสารเคมีนี้ในปริมาณมาก และร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่ ผลเสียไม่มาก ไปจนถึงทำให้เสียชีวิต

หากได้รับสารหนูไม่ว่าจะเป็นจากการสัมผัส การสูดดม หรือการรับประทาน ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ออกมาในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา ล้างร่างกายด้วยน้ำสะอาด และรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

อ้างอิง : POBPAD , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

Woralada

นักเขียนเรื่องไลฟ์สไตล์ ข่าวบันเทิง และประเด็นการเมือง เวลาว่างชอบดูซีรีส์ อ่านวรรณกรรม และไปคอนเสิร์ตเพื่อต่อพลังงานชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button