อ.เจษฎา ตอบชัด ‘ตู้เย็นระเบิด’ เกิดได้จริงไหม ชี้อาจมาจาก 3 ปัจจัย
อาจารย์เจษฎา ออกโรงแจงความจริง ‘ตู้เย็นระเบิด’ ได้จริงไหม? ยืนยันเคยเกิดขึ้นทั้งในไทยและเทศ ส่วนใหญ่มาจาก 3 ปัจจัยหลัก
จากข่าวคราวบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด เกิดเหตุคล้าย ‘ตู้เย็นระเบิด’ ขณะเจ้าของบ้านนอนพักผ่อนในห้อง เมื่อออกมาดูก็พบเปลวเพลิงลุกไหม้ที่ตู้เย็น ก่อนที่ผนังบ้านและหลังคาพังลงทั้งหลัง และมีกระจกแตก ในส่วนของซากตู้เย็นก็เสียหายยับเยิน เต็มไปด้วยรอยไหม้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความสงสัยแก่ประชาชน หลายคนต้องการทราบว่า “ตู้เย็นระเบิดได้จริงไหม” และ “สาเหตุเกิดจากอะไร”
ล่าสุด (15 กรกฎาคม 2567) อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ขยายความจริงในประเด็นดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ยืนยันว่า ตู้เย็นสามารถระเบิดได้จริง เคยเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยสาเหตุหลักก็มีด้วยกัน 3 ปัจจัย ได้แก่ ไฟฟ้าลัดวงจร, คอมเพรสเซอร์ระเบิด และ แรงดันของก๊าซ หรือแอลกอฮอล์ แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในร้อยเอ็ดนั้น คงต้องพิสูจน์หลักฐานหาสาเหตุต่อไปเพราะบ้านเรือนเสียหายหนัก และมียืนยันแล้วว่าไม่ใช่คอมเพรสเซอร์ระเบิด
” “ตู้เย็น ก็ระเบิดได้ ต้องระมัดระวังครับ” เมื่อเช้านักข่าวส่งคำถามเข้ามา เกี่ยวกับเรื่อง “ตู้เย็น” ว่ามันระเบิดได้หรือเปล่า ? เพราะพึ่งเหตุตู้เย็นระเบิด เกิดขึ้นเมื่อคืน อย่างรุนแรงจนบ้านแทบพัง … ซึ่งคำตอบก็คือ “ได้ครับ” และเคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วด้วย ต้องระมัดระวังกันหน่อยนะครับ
ตามรายงานข่าวที่ได้บอกว่า เหตุตู้เย็นระเบิด เกิดขึ้นภายในบ้านพัก จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าของบ้านนอกพักผ่อนอยู่ในห้อง จู่ ๆ ได้ยินเสียงดัง คล้ายระเบิดตูมขึ้น 1 ครั้งอย่างแรง ออกมาดูพบเปลวเพลิงลุกไหม้ที่ตู้เย็น ก่อนที่จะวิ่งหลบหนีเพราะชิ้นส่วนของบ้านพังลงมา ผนังบ้านและหลังคาพังเสียหายทั้งหลัง กระจกแตก ส่วนซากตู้เย็น มีรอยไหม้พังเสียหายยับเยิน
ซึ่งถ้าถามว่า “ตู้เย็นมีโอกาสระเบิดได้หรือไม่ ?” คำตอบก็คือ ได้ แต่สำหรับกรณีบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดหลังนี้ ก็ต้องรอผลการพิสูจน์หลักฐานกันต่อไปนะครับ ว่ามีสาเหตุแน่ชัดจากอะไรบ้าง
ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข่าว “ตู้เย็นระเบิด” เกิดขึ้นแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ และเคยเกิดขึ้นรุนแรงระดับที่ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
1. ไฟฟ้าลัดวงจร : ส่วนมาก จะเกิดการลุกไหม้จากปลั๊กและสายไฟ ทำให้เปลวเพลิงลามมาถึงตัวของตู้เย็น เมื่อตู้เย็นลุกไหม้ ก็เกิดการระเบิดขึ้น
2. คอมเพรสเซอร์ระเบิด : เป็นกรณีที่พบได้เช่นกัน และจะเห็นร่องรอยการระเบิดที่ด้านหลังของตู้เย็น
การที่คอมเพรสเซอร์ระเบิด เกิดจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป หรือได้รับความร้อน (จากเพลิงไหม้) ถ้าแค่ตัวของคอมเพรสเซอร์เท่านั้นที่ระเบิด ส่วนมากก็จะไม่เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น เพราะน้ำมัน
คอมเพรสเซอร์นั้น ไม่มีสถานะในการนำพาไฟ จึงไม่ทำให้ไฟติด (นอกเสียจากว่า จะเจอกับสารที่ทำให้ไฟติดอย่าง ออกซิเจนบริสุทธิ์ ที่พบได้บ่อยจากการตกค้างในการนำมาใช้ทดสอบรอยรั่ว ของท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในตู้เย็น เมื่อเกิดการสันดาปขึ้น จึงทำให้ระเบิดลุกไหม้ได้)
3. เกิดจากแรงดันของก๊าซ หรือแอลกอฮอล์ : การที่นำเครื่องดื่มที่มีก๊าซอยู่ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ หรือแม้แต่น้ำหอม ไปแช่แข็งในช่องฟรีซ ก็อาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากแรงดันของก๊าซในเครื่องดื่มนั้นมีอยู่มาก ยิ่งมีหลายขวด ก็จะยิ่งเพิ่มความแรงขึ้น”
ข้อควรระวังการใช้ตู้เย็น
ไม่เพียงเท่านั้น ‘อ.เจษฎา’ ยังได้แนะนำ 10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็นเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. อย่าใช้งานตู้เย็น ในแบบที่ทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป : เช่น การอัดแช่ของในตู้ จนแน่นเกินไป, การแช่ของน้อย ปล่อยให้ตู้โล่งเกินไป, การนำของร้อนไปแช่เย็น เป็นต้น
2. ควรเดินสายดิน : การเดินสายดิน ช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
3. ตั้งตู้เย็นให้เหนือระดับน้ำ : สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้น้ำหรือมีน้ำท่วมถึงแนะนำให้ยกระดับตู้เย็นขึ้น โดยใช้ขารองตู้เย็น เพื่อช่วยยกระดับขึ้นให้เหนือน้ำ
4. ไม่กระตุกปลั๊กตู้เย็น : ในการดึงปลั๊กตู้เย็น ควรจับที่ตัวจับปลั๊ก ไม่ควรกระตุกจากสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดใน และอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้
5. ไม่เปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตัวเอง : หากไม่มีพื้นฐานในการซ่อมตู้เย็น ไม่ควรเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้สายไฟรั่วขาดระหว่างซ่อมได้ หรือทำให้เกิดการรั่วของสารทำความเย็น เป็นต้น
6. ไม่ใช้น้ำล้างตู้เย็น : การล้างตู้เย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง เช็ดตู้เย็น หรือเช็ดกำจัดกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชูผสมน้ำ ไม่ควรใช้น้ำล้างตู้เย็นหรือน้ำร้อนมาราดในตู้เย็น เพราะอาจทำให้เกิดรอยรั่วได้ และที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีสารเคมี มาเช็ดทำความสะอาดตู้เย็น
7. ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง : หากปิดตู้เย็นไม่สนิท จะทำให้ความร้อนเข้าไปด้านใน ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ทำให้ของในตู้เย็นไม่เย็น และทำให้กินไฟ
8. ควรเสียบปลั๊กกับเต้ารับโดยตรง : ไม่ควรเสียบปลั๊กตู้เย็นกับปลั๊กสามตาหรือใช้ร่วมกับปลั๊กอื่น ควรเสียบเข้ากับเต้ารับหลัก โดยตรง
9. ไม่ควรเก็บของที่มีสารเคมี หรือวัตถุไวไฟ ไว้ในตู้เย็น : ตัวอย่างเช่น สีหรือยาบางชนิด สารไวไฟ น้ำหอมที่ไม่มีฝาปิดสนิท เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้
10. หมั่นเช็คความผิดปกติของตู้เย็น : ถ้ามีอาการแปลกไป เช่น มีเสียงดังมากกว่าที่เคย มีความร้อนมากบริเวณข้างตู้เยอะเกินไป หรือมีกลิ่นอะไรแปลก ๆ อาจจะเป็นสัญญาณถึงความไม่ปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ อาจลองตามช่างมาช่วยดูอาการให้ดีกว่า
ทั้งนี้ สำหรับการเลือกซื้อตู้เย็นนั้น ก็ควรเลือกดูยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ และดูเรื่องการรับประกันและบริการหลังการขาย ประกอบร่วมด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วางของบนหลัง ‘ตู้เย็น’ อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงไฟฟ้าช็อต-ไฟไหม้-ผิดหลักฮวงจุ้ย
- อ.เจษฎา เตือน “เที่ยวสูดโอโซน” ใช้คำผิด โอโซนไม่ใช่อากาศบริสุทธิ์ เสี่ยงปอดพัง
- อ.เจษฎา ชี้ ดื่มน้ำขวดพลาสติกใส ไม่เสี่ยงเป็นเบาหวาน แนะอย่าตื่นตระหน