อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

สรุปเนื้อหา “นิราศ” 9 เรื่อง แต่งโดย “สุนทรภู่” แจก วรรคทองเด่น

สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 ได้รับการยกย่องเปรียบเทียบเป็น “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย” เนื่องจากความสามารถด้านการประพันธ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะบทกลอนที่ไพเราะและทรงคุณค่า มีวรรคทองที่คนไทยรู้จักอย่าง “แล้วสอนว่าอย่างไว้ใจมนุษย์”

สุนทรภู่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวรรณกรรมไทย โดยเป็นผู้บุกเบิกการแต่งกลอนนิทานและกลอนนิราศ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ผลงานของสุนทรภู่มีมากมายหลากหลาย ทั้งบทละคร บทเสภา และบทเห่กล่อม แต่ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ “พระอภัยมณี” วรรณคดีประเภทกลอนนิทานที่เล่าเรื่องราวการผจญภัยของเจ้าชายอภัยมณี นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น นิราศทั้ง 9 เรื่อง มีความงดงามทางภาษาและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย เป็นบันทึกการเดินทาง สะท้อนความคิด ความเชื่อ และสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

สุนทรภู่แต่งนิราศทั้งหมด 9 เรื่อง ดังต่อไปนี้

1. นิราศเมืองแกลง

“นิราศเมืองแกลง” เป็นผลงานนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่ กวีเอกของไทย แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2349 หลังจากเขาได้รับการปล่อยตัวจากการถูกจองจำ สุนทรภู่ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เมืองแกลง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดา โดยมีศิษย์สองคน คือ น้อยและพุ่ม ร่วมเดินทางไปด้วย พร้อมด้วยนายแสงเป็นผู้นำทาง

การเดินทางครั้งนี้ สุนทรภู่ได้ล่องเรือไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองบางนา ออกสู่แม่น้ำบางปะกง และลงทะเลในที่สุด จากนั้นจึงขึ้นฝั่งที่หาดบางแสน และเดินทางต่อด้วยเท้าจนถึงเมืองแกลง ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเพียงบ้านป่าเมืองเถื่อน

แม้ว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินทางครั้งนี้จะยังคงเป็นปริศนา แต่จากเนื้อหาในนิราศ เราสามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกโหยหาอดีต และความผูกพันที่สุนทรภู่มีต่อบิดา ซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ นิราศเมืองแกลงยังเป็นเสมือนบันทึกการเดินทางที่บอกเล่าถึงสภาพภูมิประเทศ ผู้คน และวิถีชีวิตในสมัยนั้นได้อย่างน่าสนใจ

ปัจจุบัน จังหวัดระยองได้จัดทำ “หมุดกวี” จำนวน 28 จุด ตามสถานที่ต่างๆ ที่สุนทรภู่กล่าวถึงในนิราศ เพื่อเป็นการรำลึกถึงกวีเอกท่านนี้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมในจังหวัดระยอง

วรรคทองนิราศเมืองแกลง

“ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา

จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน”

2. นิราศพระบาท

นิราศพระบาท เป็นบันทึกการเดินทางจริง ขณะที่สุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2350 เมื่อถึงปลายทาง พักอยู่ 4 วันก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนเรือเสด็จล่องลงมาตลอดทาง จนถึงวัดระฆังใช้เวลาเดินทางวันครึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจในนิราศเรื่องนี้คือ มีความยาวถึง 462 คำกลอน นับว่ายาวมาก การบรรยายเส้นทางการเดินทางที่ละเอียดละออ ทั้งการล่องเรือผ่านสถานที่ต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา การขึ้นบกเดินทางต่อด้วยช้าง รวมถึงการพรรณนาถึงธรรมชาติและสภาพแวดล้อมระหว่างทาง นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้สอดแทรกเรื่องราวส่วนตัว ความรักที่เขามีต่อนางจัน ภรรยาของเขา ที่ตอนนั้นกวีหนุ่มมีอายุเพียง 21 ปี ไว้ในบทกวีอย่างกลมกลืน ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของกวีไปพร้อมๆ กับการเดินทาง

นอกจากความไพเราะของบทกวีแล้ว นิราศพระบาทยังมีคุณค่าในแง่ของการบันทึกประวัติศาสตร์และสังคมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ่านการพรรณนาถึงวิถีชีวิตของผู้คน การแต่งกายของชาววังและชาวบ้าน ตลอดจนงานเทศกาลสำคัญอย่างงานนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ

นิราศพระบาท จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่บันทึกการเดินทางธรรมดา แต่ยังเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการประพันธ์ มุมมองความรักของสุนทรภู่

วรรคทองนิราศพระบาท

“เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น ระวังตนตีนมือระมัดมั่น

เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน ถ้าพลังพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล”

3. นิราศภูเขาทอง

นิราศภูเขาทอง แต่งขึ้นในปี 2371 ช่วงที่สุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุ และออกเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ณ กรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน)

เนื้อหาหลักของนิราศเรื่องนี้ แสดงถึงความอาลัยรักของสุนทรภู่ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้ซึ่งสุนทรภู่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณในช่วงที่ท่านยังเป็นฆราวาส ความรู้สึกโศกเศร้าและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ถ่ายทอดออกมาผ่านบทกวีที่ไพเราะกินใจ

นอกจากนี้ นิราศภูเขาทองยังเป็นบันทึกการเดินทางที่ละเอียดและครบถ้วน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่วัดราชบุรณะ กรุงเทพมหานคร สุนทรภู่พรรณนาถึงสถานที่ต่างๆ ที่ท่านผ่าน เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดประโคนปัก โรงเหล้า ตลาดขวัญ เกาะเกร็ด ฯลฯ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางคือพระเจดีย์ภูเขาทอง การบรรยายเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพการเดินทางของกวีเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

ด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย และการใช้กลอนนิราศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้นิราศภูเขาทองเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า ทั้งในแง่ของการถ่ายทอดความรู้สึก ความจงรักภักดี และการบันทึกประวัติศาสตร์และสังคมไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์

วรรคทองนิราศภูเขาทอง

“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต

แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”

4. นิราศสุพรรณ

นิราศสุพรรณ แต่ปี 2374 เป็นผลงานที่โดดเด่นและแตกต่างจากนิราศเรื่องอื่นๆ ของสุนทรภู่ เนื่องจากเป็นนิราศเพียงเรื่องเดียวที่ท่านเลือกใช้ฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพในการประพันธ์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางฉันทลักษณ์ ไม่ได้เก่งเฉพาะแต่งกลอน

นิราศเรื่องนี้ บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของสุนทรภู่ที่ออกตามหายาอายุวัฒนะที่เมืองสุพรรณบุรี โดยเริ่มต้นจากวัดสระเกศในกรุงเทพฯ ผ่านสถานที่ต่างๆ มากมาย ทั้งวัดวาอาราม บ้านเรือนริมน้ำ และหมู่บ้านต่างๆ ในเส้นทางที่คดเคี้ยวและเต็มไปด้วยอุปสรรค จบลงที่หมู่บ้านระว้า

สิ่งที่น่าสนใจคือ สุนทรภู่ไม่ได้เพียงบรรยายถึงสถานที่ที่ท่านผ่านเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกข้อคิดและมุมมองต่อชีวิต ความเชื่อ และสังคมในยุคสมัยนั้นไว้ด้วย เช่น การตั้งคำถามถึงความเชื่อเรื่องยาอายุวัฒนะ และการสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของการเดินทางในสมัยก่อน

ในตอนท้ายของนิราศ สุนทรภู่ได้สรุปบทเรียนจากการเดินทางครั้งนี้ว่า ยาอายุวัฒนะนั้นไม่มีอยู่จริง และการแสวงหามันเป็นเพียงความหลงผิด สิ่งที่สำคัญกว่าคือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่หลงใหลไปกับสิ่งลวงตา

นิราศสุพรรณ จึงเป็นมากกว่าบันทึกการเดินทาง เป็นเครื่องเตือนใจให้เรามองโลกอย่างมีเหตุผล และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

วรรคทองนิราศสุพรรณ

“หวังไว้ให้ลูกเต้า เหล่าหลาน

รู้เรื่องเปลืองป่วยการ เกิดร้อน

อายุวัฒนะขนาน นี้พ่อ ขอเอย

แร่ปรอทยอดยากข้อน คิดไว้ให้จำฯ”

5. นิราศวัดเจ้าฟ้า

นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่ราวต้นปี พ.ศ.2375 เนื้อเรื่องกล่าวว่า เณรหนูพัด (บุตรคนโตของสุนทรภู่) เป็นผู้แต่ง แต่เชื่อกันว่าที่จริงแต่งโดยสุนทรภู่ เนื่องจากขณะนั้นสุนทรภู่อยู่ในสมณเพศ จึงต้องระมัดระวังตัว การแต่งกาพย์กลอนในสมณเพศอาจไม่เหมาะ ถ้าใช้ชื่อนามปากกาของบุตรชายแทนสามารถออกกระบวนกลอนและแสดงความคิดเห็นได้รสชาติมากกว่า

วัดเจ้าฟ้า ในบทกลอนมีชื่อเต็มว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นวัดใดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน เส้นการเดินทางตามบทนิราศเมื่อไปถึงอยุธยา สุนทรภู่และคณะแวะนมัสการหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง แล้วเลยไปวัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อค้นหาพระปรอท ก่อนจะออกเดินเท้าไปยังวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์

วรรคทองนิราศวัดเจ้าฟ้า

“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน

ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

6. นิราศอิเหนา

นิราศอิเหนา สันนิษฐานจากสำนวนกลอนคาดว่าน่าจะประพันธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่สุนทรภู่อยู่ในอุปการะของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงน่าจะแต่งถวาย

เนื้อหาของกลอนนิราศนำมาจากส่วนหนึ่งของวรรณคดีเรื่อง อิเหนา โดยจับใจความตอนที่อิเหนากลับจากไปแก้สงสัยที่เมืองดาหา แล้วพบว่านางบุษบาที่ตนลักตัวมาซ่อนไว้ที่ถ้ำทอง ถูกลมพายุพัดหายไปเสียแล้ว เ

นื้อหาของกลอนนิราศเป็นการเดินทางติดตามค้นหานางบุษบาของอิเหนา ระหว่างทางก็พร่ำรำพันถึงนางผู้เป็นที่รัก อิเหนาตามหานางบุษบาอยู่เจ็ดเดือนก็หาไม่พบ เนื้อเรื่องจบลงที่อิเหนาและไพร่พลออกบวชอุทิศกุศลให้นางบุษบา ซึ่งอิเหนาคิดว่าคงจะตายไปแล้ว

วรรคทองนิราศอิเหนา

“จะหักิ่นขืนใจก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก

สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ”

7. รำพันพิลาป

สุนทรภู่ได้ประพันธ์รำพันพิลาปขึ้นในปี พ.ศ. 2385 ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม โดยมีแรงบันดาลใจจากฝันร้ายที่ทำให้ท่านรู้สึกถึงความไม่แน่นอนของชีวิต บทกวีนี้จึงเต็มไปด้วยความโศกเศร้า อาลัยอาวรณ์ และความรู้สึกเปลี่ยวเหงาของกวีผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

ในรำพันพิลาป สุนทรภู่ได้เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของท่าน ตั้งแต่วัยเด็ก การเข้ารับราชการ การถูกจำคุก ความรัก ความผิดหวัง ไปจนถึงความรู้สึกในบั้นปลายชีวิต นอกจากนี้ ท่านยังได้กล่าวถึงผลงานการประพันธ์ของท่านที่สูญหายไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสียดายและความผูกพันที่ท่านมีต่อผลงานของตนเอง

แม้ว่ารำพันพิลาปจะเต็มไปด้วยความเศร้าโศก แต่ก็มีความงดงามทางภาษาและเต็มไปด้วยแง่คิดที่ลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงชีวิตและจิตใจของสุนทรภู่มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รำพันพิลาปยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่บอกเล่าเรื่องราวของสังคมและวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี

วรรคทองรำพันพิลาป

“เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม เจิมแป้งหอม้ำมันจันทน์ให้หรรษา

พอเสร็จงานท่านเอาลงทิ้งคงคา ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง”

8. นิราศพระประธม

นิราศพระประธม แต่งขึ้นหลังจากท่านลาสิกขาบทแล้วในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน (พ.ศ. 2385) สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีจุดมุ่งหมายในการเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พร้อมกับบุตรชายสองคน คือ ตาบ และ นิล

การเดินทางในนิราศพระประธม เริ่มต้นจากพระราชวังเดิม ผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งวัดระฆัง คลองบางกอกน้อย พระราชวังหลัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่สุนทรภู่เคยรับราชการ นอกจากนี้ ยังผ่านวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นสถานที่ทำศพของน้องสาวต่างบิดาของสุนทรภู่ และวัดศรีสุดาราม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเคยบวชอยู่ สถานที่เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และความทรงจำส่วนตัวของสุนทรภู่

จากนั้น การเดินทางได้ลัดเลาะไปตามแม่น้ำและคลองต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรี และนครปฐม ผ่านหมู่บ้าน วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกมากมาย ก่อนจะสิ้นสุดที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง

วรรคทองนิราศพระประธม

“อันน้ำใจคนเหมือนต้นอ้อย ข้างปลายกร่อยชืดชิดไม่อิ่มหนำ

ต้องหับหีบหนีบแตกให้แลกลำ นั้นแหละน้ำจึงหวานเพราะจานเจือ”

9. นิราศเมืองเพชร

นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศเรื่องสุดท้ายที่สุนทรภู่แต่ง เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในช่วงที่ท่านกลับเข้ารับราชการในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ประมาณปี พ.ศ. 2388

เนื้อหาในนิราศ บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของสุนทรภู่ไปยังเมืองเพชรบุรี โดยไม่ได้ระบุจุดประสงค์ที่แน่ชัดของการเดินทางครั้งนี้ แต่จากเนื้อหาในบทกวี สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นการเดินทางไปราชการ หรืออาจเป็นการเดินทางเพื่อเยี่ยมญาติ เนื่องจากมีการกล่าวถึงบรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่ที่อาศัยอยู่ในเมืองเพชรบุรี

ตลอดเส้นทาง สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงสถานที่ต่างๆ ที่ท่านผ่าน ทั้งแม่น้ำ ลำคลอง วัดวาอาราม และบ้านเรือนของผู้คน พร้อมกับบรรยายถึงธรรมชาติอันงดงาม และวิถีชีวิตของชาวเมืองเพชรบุรีในสมัยนั้นได้อย่างละเอียดและมีชีวิตชีวา

นิราศเมืองเพชร โดดเด่นด้วยการใช้ภาษาที่สละสลวยและเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก สุนทรภู่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำ และความประทับใจที่มีต่อสถานที่ต่างๆ ที่ท่านพบเห็นออกมาเป็นบทกวีที่ไพเราะจับใจ นอกจากนี้ ท่านยังได้สอดแทรกอารมณ์ขันและความคิดเห็นส่วนตัวลงในเนื้อหา ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงตัวกวีได้มากขึ้น

วรรคทองนิราศเมืองเพชร

“ถึงย่านซื่อสมชื่อด้วยซื่อสุด ใจมนุษย์เหมือนกระนี้แล้วดีเหลือ

เป็นป่าปรงพงพุ่มดูครุมเครือ เหมือนซุ้มเสือซ่อนร้ายไว้ภายใน”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button