ป.ป.ช. สั่งฟัน ‘ทวีป’ อดีตรองอธิบดี พช. รับนาฬิกาหรู วันรับตำแหน่ง
ป.ป.ช. สั่งฟัน ทวีป บุตรโพธิ์ อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รับนาฬิกาหรู วันรับตำแหน่ง ถือว่ามีมูลความผิดทางอาญา ผิดวินัยร้ายแรง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนกรณีกล่าวหา นายทวีป บุตรโพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกิน 3,000 บาท
ว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่นายทวีป เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) โดยนายทวีป ได้รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA0910SERIED RZE9871 ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลที่มาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็นการรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติ และมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกิน 3,000 บาท และหลังจากรับนาฬิกาดังกล่าวมาแล้ว ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง โดยมิได้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นในการรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนต่อผู้บังคับบัญชา
จนกระทั่งมีการร้องเรียนกรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. นายทวีป จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 25 กันยายน 2562 รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชาและส่งมอบนาฬิกาคืนให้แก่กรมการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นการส่งมอบคืนภายหลังได้รับทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายทวีป มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา103 ประกอบมาตรา 122ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศาลปรับ ป.ป.ช. รวม 10,000 บาท เหตุเปิดสำนวนคดีนาฬิกา ‘บิ๊กป้อม’ ล่าช้า
- ป.ป.ช. แจงยึดทรัพย์ ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ 11 รายการ ร่ำรวยผิดปกติ
- ป.ป.ช. แจงไทม์ไลน์คดี ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ หลังคดีหมดอายุความ