ข่าวภูมิภาค

ลุยฝนแห่พระรอบเมือง ศาลเจ้ากะทู้ ต้นกำเนิดประเพณีกินเจภูเก็ต

เข้าสู่วันที่ 8 ของประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตและเป็นวันที่ 7 ของพิธีอิ้วเก้งห่พระรอบเมือง วันนี้( 16 ต.ค.) ศาลเจ้าหล่ายถู่ต่าวโบ๊เก้ง หรือ ศาลเจ้ากะทู้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นจุดกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ได้ประกอบพิธีอิ้วเก้งแห่พระรอบเมือง มีประชาชนและนักท่องเที่ยวออกมาตั้งโต๊ะรอรับพระและชมขบวนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บริเวณถนนย่านเมืองเก่า หน้าลานนวมินทร์ วงเวียนสุรินทร์ไปจนถึงปลายแหลมสะพานหิน ถึงแม้จะมีฝนตกลงมาโปรยปรายในบางช่วง

โดยขบวนม้าทรงทั้งชายและหญิงของศาลเจ้ากะทู้มีการใช้อาวุธทั้งในและนอกตำนาน ทิ่มแทงทรมานร่างกายเพื่อรับเคราะห์แทนผู้ร่วมถือศีลกินผัก ขณะเดียวกันก็มีบรรดาม้าทรงสูงอายุของศาลเจ้าที่ยังคงทำหน้าที่สืบทอดประเพณีถือศีลกินผักบางคนนั่งรถแห่มาพร้อมๆกับขบวนเพื่อให้พรแก่ผู้ร่วมรับพระ

Advertisements

สำหรับศาลเจ้ากะทู้นับว่าเป็นจุดกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ถึงแม้ว่าจะมีหลากหลายตำนาน แต่ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตเริ่มต้นครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ ในปี พ.ศ. 2368 หรือประมาณ 193 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นพระยาถลาง ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่ตอนนั้นยังเป็นป่าทึบ ชุมชุกด้วยไข้มาเลเรีย ต่อมามีคณะงิ้วปั่วฮี่ จากเมืองจีนมาเปิดการแสดง ชาวคณะได้เกิดล้มป่วยลง คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า ‘กิ๋วฮ๋องไต่เต่’ และ ‘ยกอ๋องซ่งเต่’ การณ์ปรากฏว่า โรคภัยไข้เจ็บได้หายไปหมดสิ้น จากนั้นมา ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาสูงสุด จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน มาเป็นประจำทุกปี จนถึงทุกวันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button