ไม่ใส่เสื้อใน นมยาน? งานวิจัย 15 ปี เผยสาเหตุสุดทึ่ง ที่คนยังเข้าใจผิด
ผลการวิจัยเกี่ยวกับหน้าอกของผู้หญิง ที่เก็บข้อมูลมานานกว่า 15 ปี ระบุว่า สาเหตุที่หน้าอกหย่อนคล้อยนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ผลการศึกษาบ่งชี้ถึงปัจจัยที่มีส่วนสำคัญคือ อายุ ดัชนีมวลกาย (BMI) และการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้วิจัยบางกลุ่มพบความเชื่อมโยงระหว่างการสูบบุหรี่กับหน้าอกหย่อนคล้อย แต่ก็ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้ผลลัพธ์เดียวกัน
หญิงสาวทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า รูปทรงและขนาดของหน้าอกมีหลากหลาย ในช่วงวัยเดียวกันบางคนก็มีความเต่งตึงไม่เท่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่อาจทำให้บางคนรู้สึกไม่มั่นใจและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การผ่าตัดศัลยกรรมเสริมหน้าอกเป็นวิธีแก้ไขภาวะหน้าอกหย่อนคล้อย (หรือที่เรียกว่า ptosis) ได้ ทว่ายังมีวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ต้องผ่าตัดซึ่งอาจช่วยได้เช่นกัน
ปัจจัยที่คาดว่าทำให้หน้าอกหย่อนคล้อย
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Plastic Surgery ได้ทำการเก็บข้อมูลผู้หญิง 132 คนที่เข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกเนื่องจากมีภาวะหน้าอกหย่อนคล้อย ได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกัน ได้แก่
- อายุ
- การลดน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญ (ประมาณ 22.6 กิโลกรัมขึ้นไป)
- ดัชนีมวลกาย (BMI) ที่สูง
- ขนาดคัพเสื้อชั้นในที่ใหญ่ขึ้น
- จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์
- มีประวัติการสูบบุหรี่
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องด้วยเช่น
- มีประวัติการให้นมบุตร
- น้ำหนักตัวขึ้นในช่วงตั้งครรภ์
- ขาดการออกกำลังกายส่วนบนอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ใส่เสื้อใน ทำให้หน้าอกยานจริงไหม
นายแพทย์โกมล ปรีชาสนองกิจ แพทย์หัวหน้าศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 2 ระบุว่า การใส่หรือไม่ใส่ยกทรง (เสื้อชั้นใน) ไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องความหย่อนยานของหน้าอกเลย (คลิกดูคลิปคุณหมออธิบาย)
ขณะที่ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ฌอง-เดนิส รูอิลลอน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยเบอซองซง ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยผลจากงานวิจัยทที่ชี้ว่า “การสวมสวมชุดชั้นในของผู้หญิงมีโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะไม่ได้ช่วยลดอาการปวดหลัง แถมยังทำให้กล้ามเนื้อที่พยุงหน้าอกอ่อนแรงลง ส่งผลให้หน้าอกหย่อนคล้อยมากขึ้น”
“ทางการแพทย์ สรีรวิทยา และกายวิภาคศาสตร์นั้น หน้าอกไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการฝืนแรงโน้มถ่วง ตรงกันข้าม การใส่บรายิ่งทำให้หย่อนคล้อย”
การศึกษาชิ้นนี้ผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมดหลายร้อยคนมีอายุระหว่าง 18-35 ปี โดยใช้ไม้บรรทัด และคาลิปเปอร์ (อุปกรณ์วัดขนาด) ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของหน้าอกเป็นเวลา 15 ปี
ศาสตราจารย์รูอิลลอนพบว่า ผู้หญิงที่ไม่เคยใส่เสื้อชั้นในเลยจะมีหัวนมที่สูงกว่าผู้หญิงที่สวมใส่เป็นประจำโดยเฉลี่ย 7 มิลลิเมตรต่อปี
อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้เป็นข้อสรุปตายตัวว่า การใส่เสื้อในทำให้หน้าอกหย่อนคล้อย “นี่เป็นแค่ผลการศึกษาระยะต้น กลุ่มตัวอย่างเพียง 320 คนนั้นไม่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด จะฟันธงได้ต้องมีคนเข้าร่วมประมาณ 300,000 คนขึ้นไป”
แต่ที่น่าสนใจคือในระหว่างการศึกษา กลุ่มประชากรที่เลิกใส่ยกทรงพบว่า หน้าอกไม่ได้หย่อนคล้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และบางคนมีแนวโน้มที่หน้าอกจะกระชับขึ้น ถือว่าสอดคล้องกับที่นายแพทย์โกมลของไทยให้ความรู้
การแก้ไขหน้าอกหย่อนคล้อย
หากไม่พอใจกับรูปทรงหน้าอกของตนเอง ต้องการแก้ไขให้กลับมาเต่งตึง กระชับกลมกลึง มีหลายวิธีที่สามารถเลือกได้ แม้การผ่าตัดจะเป็นวิธีที่นิยมที่สุด แต่ก็มีวิธีอื่นๆที่ทำได้เช่นกัน พิจารณาตามด้านล่าง
การผ่าตัดศัลยกรรม
ศัลยแพทย์จะพิจารณาความหย่อนคล้อยของหน้าอกเพื่อจัดระดับความรุนแรง จากนั้นจะแนะนำแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม ซึ่งอาจประกอบด้วย
- การยกกระชับหน้าอก เป็นการผ่าตัดเพื่อยกหน้าอกขึ้นสูงโดยตัดผิวหนังส่วนเกินออกและกระชับเนื้อเยื่อของเต้านมเพื่อปรับรูปทรง
- การเสริมหน้าอก วิธีนี้ไม่ได้เปลี่ยนขนาดของเนื้อเยื่อเต้านม คนที่มีหน้าอกขนาดใหญ่อาจต้องมีการผ่าตัดลดขนาดหน้าอกร่วมด้วยค่ะ
- ทำสองอย่างข้างต้นพร้อมกัน
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
มีการแนะนำว่าการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อส่วนอก เช่น วิดพื้น การดันอก หรือท่าแพลงค์ อาจช่วยยกกระชับหน้าอกได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันจากงานวิจัยทางการแพทย์ที่ชัดเจนนะคะ
การสวมใส่เสื้อชั้นในแบบที่มีโครงหรือแบบกระชับก็สามารถช่วยยกกระชับได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าช่วยป้องกันหรือแก้ไขหน้าอกหย่อนคล้อยได้ค่ะ
หากมีน้ำหนักตัวเกิน การลดน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้ค่ะ
ทั้งนี้ หน้าอกหย่อนคล้อยตามธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลได้อีกด้วย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการแก้ไขรูปทรงหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เพียง 3 ขั้นตอน เพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันมะเร็ง
- เตือนภัยสาว ให้หมอกระเป๋า “ฉีดขยายเต้านม” อันตรายถึงชีวิต เสี่ยงซิลิโคนอุดตัน
- ผู้เชี่ยวชาญเผย ‘โนบรา’ ทำหน้าอกยานจริงไหม แบบไหนดีต่อสุขภาพ