เปิดเผยสถิติ 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2567 ยอดผู้เสียชีวิต 162 ศพ
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เปิดเผยสถิติ 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2567 ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 162 ศพ บาดเจ็บ 1,279 ราย
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย เปิดเผยสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
โดยจากสถิติพบว่า เกิดอุบัติเหตุ 317 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 311 คน ผู้เสียชีวิต 38 ศพ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.22 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.87 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 15.46
ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.51 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.76 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 35.65 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.33 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 7.57 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 20.92 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,763 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,529 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (3 ราย)
ทั้งนี้สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11-144 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,259 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,279 คน ผู้เสียชีวิต รวม 162 ศพ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 21 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (50 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (54 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและร้อยเอ็ด (10 ราย)
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ ขณะที่บางส่วนเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานครและจังหวัดที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจในแต่ละภาค ทำให้เส้นทางสายหลักเริ่มมีการจราจรหนาแน่น ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
โดยพื้นที่ที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ ให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเส้นทางโดยรอบสถานที่จัดงานสงกรานต์และในช่วงเวลากลางคืน ส่วนในเส้นทางสายหลักขาเข้ากรุงเทพฯ และเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค เน้นการจัดตั้งจุดตรวจและเพิ่มความถี่เรียกตรวจในเส้นทางเสี่ยง โดยเฉพาะทางตรงที่มีระยะทางไกลและจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย
พร้อมกันนี้ ยังเน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ที่จัดการเล่นสงกรานต์ โดยดูแลไม่ให้มีความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาท การพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่จัดงาน การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนดและจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หากมีกรณีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ ขอให้พื้นที่เร่งติดตาม ตรวจสอบ และสืบสวนหาผู้ที่จำหน่ายหรือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผกก.บางรัก ชี้แจง คลิปนักท่องเที่ยวกินบวบในสงกรานต์ ไม่ได้เกิดขึ้นในสีลม
- กรมการขนส่งทางบก แจงปม ผู้โดยสารเป็นลมบนรถตู้ คาดอากาศร้อนเป็นเหตุ
- อีกแล้ว! บันไดขึ้นลงตอม่อพระราม 2 ล้มขวางถนน เคราะห์ดีไร้คนเจ็บ