‘อ.เจษฎา’ ชี้ดราม่าพระเกี้ยว เป็นคนละงานกับฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-มธ.
อ.เจษฎา ชี้ดราม่าพระเกี้ยว เป็นคนละงานกับฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-มธ. เป็นงานที่นิสิตนักศึกษาจัดกันเอง ชี้ถ้าใครอยากยกเสลี่ยง ปีหน้าขอให้รีบสมัคร
รศ.ดร.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ออกมาร่วมแสดงความเห็นกรณีดราม่าอัญเชิญพระเกี้ยว ภายใน งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หลังจากที่ปีนี้ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยวแทน ตามที่มีรายงานกันไปก่อนหน้านี้นั้น
โดย อ.เจษฎา ระบุ “เห็นเป็นประเด็นดราม่ากันมาหลายวันแล้ว เกี่ยวกับงานฟุตบอล ที่จัดแข่งกันไประหว่างนิสิตจุฬาฯ และศึกษาธรรมศาสตร์ … แต่ถ้าผมจะอธิบายให้เข้าใจชัดว่า “มันเป็นคนละงานกัน” กับการฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านๆ มา ไม่รู้ว่าจะช่วยลดดราม่าให้น้อยลงได้หรือเปล่านะครับ
[ #สรุป (เผื่อใครขี้เกียจอ่านยาว) พูดง่ายๆ คือสมาคมศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบัน ไม่จัดงานบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ซักที .. เด็กๆ นิสิตนักศึกษา ก็เลยจัดงานเตะบอลสานสัมพันธ์กันเอง .. งานมันก็เลยออกมาสเกลเล็กๆ แค่นี้แหละครับ ]
คือมีหลายคนที่ออกมาบ่น เชิงตำหนิ ว่างานฟุตบอลจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ปีนี้ ดูด้อยลงกว่าเดิมมาก เพราะไม่ค่อยมีข่าวประชาสัมพันธ์เท่าไหร่ คนมาร่วมงานน้อยลง ขบวนพาเหรดก็เล็ก แปรอักษรก็ใช้จอ LED ช่วยแทนคน ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวและธรรมจักร ก็ไม่ใช้เสลี่ยงเหมือนก่อน แต่ใช้รถไฟฟ้า-รถเข็นอัญเชิญแทน ฯลฯ
คือจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณี ที่จัดกันมากว่า 90 ปีแล้ว (ซึ่งครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 74 เมื่อปี พ.ศ. 2563) .. แต่มันมีชื่อว่า “งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1” ต่างหากครับ
งานฟุตบอลประเพณีที่ผ่านมา ดำเนินการจัดโดย “สมาคมศิษย์เก่า” ของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาตลอด .. ขณะที่งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ ที่เพิ่งริเริ่มจัดในปีนี้นั้น จัดโดยองค์การบริหารสโมสรของนิสิตจุฬาฯ และของนักศึกษาธรรมศาสตร์
สาเหตุที่เกิดงานนี้ก็คือ การที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ครั้งที่ 75 (ซึ่งควรจะได้จัดไปเมื่อปี 2564 ) ทางด้านของสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ที่เป็นเจ้าภาพนั้น ได้เลื่อนจัดมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดขึ้น จนมาถึงปีนี้ ก็ยังหากำหนดวันที่เหมาะสมร่วมกันกับทางสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ไม่ได้ แล้วต้องทำให้เลื่อนไปอีกปีนึง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางองค์การบริหารสโมสรของทั้ง 2 สถาบัน จึงได้ขอจัดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ขึ้นเอง แม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดมาก และมีงบประมาณน้อยมากก็ตาม โดยจัดในแบบที่กระชับขึ้น เรียบง่ายขึ้น งบน้อยลง ใช้กำลังคนให้น้อยลง .. และที่สำคัญคือ มีรูปแบบงานในแบบที่นิสิตนักศึกษาอยากจัดกัน (ไม่ได้จำเป็นอยู่ในกรอบแนวทาง ของที่สมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน เคยวางแนวไว้)
ตัวอย่างเช่น การแปรอักษร ด้วยป้าย LED ก็เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการระดมหาคนขึ้นสแตนด์ ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนี้ .. หรือแม้แต่การอัญเชิญธรรมจักรและพระเกี้ยว ที่เรียบง่ายขึ้น ใช้กำลังคนน้อยลงเช่นนี้ ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ดีเช่นเดียวกัน .. ซึ่งถ้ามองถึงผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจกันไว้ (แม้ว่าจะไม่อลังการเท่าเดิม ทั้ง stand แปรอักษรและขบวนอัญเชิญ)
ยังไงก็ตาม การจัดงานบอลสานสัมพันธ์ครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่นิสิตนักศึกษาที่จัดกันเอง แต่ผู้บริหารของทั้งสองมหาวิทยาลัย ก็เข้ามาช่วยสนับสนุนเช่นกัน .. ดังนั้น รูปแบบวิธีการที่เปลี่ยนไปนี้ จึงถือว่าผ่านความเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยทั้งสองแล้วนะครับ
ดังนั้น ผู้ที่กังวลว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จะดูด้อยลง ลดความสวยงามอลังการลงจากเดิม ก็คงจะต้องรอดูในปีหน้าๆ ถัดไป ว่างานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 นั้น จะจัดออกมาในรูปแบบไหน ? จะสวยงามยิ่งใหญ่เท่าสมัยปี 2563 หรือเปล่า ?
หรือจะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ไปตามสมัยนิยม ที่ลดเรื่องพิธีรีตอง และเน้นคุณค่าของตัวงาน ตามวัตถุประสงค์มากขึ้น .. ซึ่งก็ต้องรอฟังทางสมาคมศิษย์เก่าของสองสถาบัน นำเสนอชี้แจงกันต่อไป
แต่ไม่ใช่ มาดู “งานบอลสานสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษา” ปีนี้ แล้วจะมารีบด่วนตัดสินว่า หลายๆ อย่าง (เช่น เสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว) ถูกยกเลิกไปแล้วอย่างที่ข่าวไปกระพือกันนะครับ … เน้นย้ำ ให้มองว่า มันเป็นคนละงานกันครับ !
ป.ล. ส่วนใครปวารณาตัว อยากจะมาช่วยยกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวให้ ในปีหน้าๆ ต่อไป ก็เป็นเรื่องน่ายินดีนะครับ รีบมาสมัครล่วงหน้าได้เลย
ทั้งนี้ อาจารย์เจษฎาได้ระบุว่า เหตุที่ให้ข้อมูลช้า เพราะช่วงนี้งานเยอะตลอด และไม่สบายหนักด้วย กว่าจะไล่ตอบแต่ละประเด็นที่มีคนถามมาแต่ละวัน ครบทุกเรื่อง ก็หมดเวลาไปวันๆ แล้ว”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รพ.พระมงกุฎเกล้า ขอโทษ หลังหมอทหารโพสต์ จบจุฬา อย่ามาสมัครงาน
- ‘เข็มทอง’ ฟาดกลับปมอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ แนะให้คนที่รับไม่ได้มาแบกแทน
- มจ.จุลเจิม หดหู่ใจ นิสิตจุฬาวาง ‘ตราพระเกี้ยว’ บนหลังคารถกอล์ฟ ไม่ใช่ศิษย์เก่า แต่ขอพูด