ส่อง พรบ.น้ำเมา ฉบับใหม่ เพิ่มโทษนักดื่ม นอกเวลา-สถานที่ ฝ่าฝืนปรับอ่วม
ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิมบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ. ดังกล่าวและได้ยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยมีสาระสำคัญ เช่น แก้ไขคำนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด”
และเพิ่มเติม คำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
รวมถึงเพิ่มเติมโทษ กรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเนื้อหา ขอให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนตรวจอย่างละเอียดคำนึงถึงในทุกมิติ (ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ) อย่างสมดุล โดยขอให้รับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไปประกอบความเห็นพิจารณาด้วย ก่อนนำเสนอวิปรัฐบาล เพื่อเสนอสภาพิจารณาต่อไป
เท่าพิภพ ไม่เห็นด้วยมติครม. คุมพรบ.น้ำเมาฉบับใหม่
ขณะเดียวกัน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ เขต 24 พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่เห็นชอบกับอีก 3 ร่างฯ ที่เหลือ ซึ่งมี 2 ร่างฯ เสนอโดยภาคประชาชน และอีกร่างฯ หนึ่งเสนอโดยเท่าพิภพในนามพรรคก้าวไกล โดยเตรียมส่งคืนทั้ง 3 ร่างฯ กลับไปยังสภาฯ ภายในวันที่ 9 มี.ค.นี้
เท่าพิภพ กล่าวถึงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความสำคัญทั้งด้านอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกำหนดวัน-เวลาการขาย รวมถึงการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ซึ่งร่างฯ แต่ละฉบับมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยร่างฯ หนึ่งของภาคประชาชนอยากเห็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้นขึ้น ส่วนอีกร่างฯ หนึ่งต้องการผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ลดน้อยลง
ขณะที่ ร่างฯ ของตนและพรรคก้าวไกล พยายามหาจุดร่วมของทั้งสองฝ่าย โดยร่างออกมาอย่างประนีประนอมและหาจุดสมดุลให้ได้มากที่สุด
เท่าพิภพ กล่าวต่อว่า แม้ทุกร่างฯ จะมีความเห็นต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แตกต่างกัน แต่ทุกความเห็นในสังคมควรได้รับการรับฟังโดยไม่ถูกปัดตก ตนจึงไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.นี้ และเมื่อทั้ง 4 ร่างฯ กลับเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่งในสภาฯ ตนขอให้ สส.ทุกคนร่วมกันลงมติรับหลักการทุกร่างฯ เพื่อนำรายละเอียดที่แตกต่างกันไปถกเถียงในชั้นกรรมาธิการต่อไป.