Line Newsไลฟ์สไตล์

ประตูรถไฟฟ้าหนีบ อันตรายไหม วิธีขอความช่วยเหลือ หากเกิดอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุ ประตูรถไฟฟ้าหนีบ เจ็บไหม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีเอาตัวรอด กดปุ่มขอความช่วยเหลือเมื่อถูกประตูไฟฟ้าหนีบ เหตุการณ์นี้ป้องกันได้

รถไฟฟ้า BTS, MRT และ SRTET (รถไฟสายสีแดง) ช่วยอำนวยความสะดวกคนกรุงเทพเดินทางไปอย่างรวดเร็ว ตรงเวลา โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนก่อนเข้างาน มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ต่างเร่งรีบแย่งกันเข้ารถให้ทันก่อนเสียงสัญญาณประตูปิด หลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์ “ประตูรถไฟฟ้าหนีบ” หรือแม้แต่ถูกประตูผีเสื้อ หน้าสถานีหนีบ ซึ่งหลายคนไม่เคยรู้และคงไม่อยากลองว่าประตูรถไฟฟ้าหนีบแรงแค่ไหน วันนี้ Thaiger มาไขข้อสงสัย ว่ามันอันตรายรึเปล่า พร้อมวิธีป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว เพื่อให้ใช้รถไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล

ประตูรถไฟฟ้าหนีบ อันตรายไหม 2
ภาพจาก : Thai PBS

ประตูรถไฟฟ้าหนีบ อันตรายไหม

ปกติแล้วนั้น ประตูรถไฟฟ้าจะเปิดค้างไว้ประมาณ 25 วินาที – 1 นาที ตามความหนาแน่นของผู้โดยสารแต่ละสถานี โดยผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ เคยให้ข้อมูลว่า แขนของเธอถูกประตูรถไฟฟ้าหนีบเป็นเวลานานถึง 5 นาที เนื่องจากถูกเบียดจากผู้โดยสารคนอื่นบริเวณหน้าประตู ทำให้แขนไปตกร่องของประตูพอดี เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการดึงประตูออก เธอจึงรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้

สำหรับอาการหลังจากโดนประตูรถไฟฟ้าหนีบนั้น แขนข้างที่ถูกประตูหนีบชาไปทั้งแขน มีอาการตัวเกร็ง มือจีบ แขนถลอก หนังย่นรูดเป็นคลื่น ๆ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใครก็ไม่ควรที่จะต้องประสบพบเจอ

ทั้งยังมีอีกกรณี ที่มีผู้โดยสารรายหนึ่ง ถูกประตูรถไฟฟ้า ARL หนีบแขน เนื่องจากผู้โดยสารหนาแน่นจึงเข้ารถไม่ทัน ส่วนอาการเจ้าตัวบอกว่ารู้สึกสะดุ้งแต่เจ็บไม่มาก แต่ตอนหนีบรู้สึกเหมือนถูกบีบอย่างรวดเร็ว และพอประตูหนีบโดนแขนจึงหยุด ก่อนที่จะกางและปิดอีกที

วิธีเอาตัวรอด หากถูกประตูไฟฟ้าหนีบ
ภาพจาก : Thai PBS

วิธีเอาตัวรอด หากถูกประตูรถไฟฟ้าหนีบ

นายณัฐชัย ผะเดิมชิต ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แนะนำวิธีเอาตัวรอด หากเกิดอุบัติเหตุถูกประตูไฟฟ้าหนีบไว้ว่า หากถูกประตูรถไฟฟ้าหนีบ การร้องขอความช่วยเหลือจากผู้โดยสารคนอื่นหรือเจ้าหน้าที่บนรถไฟฟ้า ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด

สำหรับการขอความช่วยเหลือประตูหนีบ หากเกิดด้านในขบวนรถไฟฟ้า ให้กดปุ่ม กระดิ่งสีเหลือง บนรถไฟฟ้า ซึ่งจะอยู่บริเวณด้านซ้ายของประตูรถไฟฟ้า จากนั้นให้ดูหมายเลขขบวนรถ 4 หลัก จากนั้นให้พูดหมายเลขขบวนดังกล่าวใส่ลำโพง เจ้าหน้าที่จะตอบรับและสอบถาม ให้เราแจ้งเหตุเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านการพูดใส่ลำโพง เจ้าหน้าที่จะรับข้อมูลเพื่อประสานงานเจ้าหน้าที่บนรถไฟฟ้าหรือเจ้าหน้าที่ในสถานีถัดไป เพื่อเร่งเข้าช่วยเหลือโดยเร็ว

วิธีเอาตัวรอด หากถูกประตูไฟฟ้าหนีบ 2
ภาพจาก : Thai PBS

ในกรณีที่ถูกประตูรถไฟฟ้าหนีบบนชานชาลา ให้ผู้โดยสารคนอื่น รีบไปแจ้ง รปภ. บนชานชาลาประจำสถานีนั้น ๆ ซึ่ง รปภ. จะไปกดปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน ที่ติดตั้งในทุกสถานี เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา

วิธีเอาตัวรอด หากถูกประตูไฟฟ้าหนีบ 3
ภาพจาก : Thai PBS

ข้อควรปฏิบัติ เพื่อป้องกันประตูรถไฟฟ้าหนีบ

สำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าอยู่เป็นประจำจะทราบดี ในขณะที่รถไฟฟ้ากำลังจอดเทียบชานชาลาเพื่อเปิดรับผู้โดยสารทั้งที่ลงสถานีดังกล่าว และผู้โดยสารที่กำลังเดินเข้าขบวนรถเพื่อมุ่งหน้าไปสถานีถัดไป เมื่อประตูใกล้ปิด จะมีเสียงสัญญาณ “ปิ๊บ ปิ๊บ ปิ๊บ” เพื่อบ่งบอกว่าประตูรถไฟฟ้ากำลังปิด พร้อมทั้ง รปภ. ประจำสถานีจะเป่านกหวีดเป็นสัญญาณเสียงย้ำอีกรอบ ให้ผู้ที่รอบนชานชาลารอหลังเส้นสีเหลือง ส่วนผู้โดยสารในขบวนต้องถอยห่างจากประตูเพื่อป้องกันประตูหนีบ

ดังนั้นแล้ว เมื่อได้ยินสัญญาณเสียงประตูรถไฟฟ้ากำลังปิด จึงควรยืนรออยู่หลังเส้นสีเหลือง ห้ามกระโดด หรือวิ่งเข้า-ออก ขบวนรถไฟฟ้าเด็ดขาด ไม่ควรยื่นมือ หรือร่างกาย เพื่อไปกีดกันประตูรถไฟฟ้า รวมถึงไม่วิ่งเล่น หรือหยอกล้อกันขณะประตูรถไฟฟ้ากำลังปิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันอย่างการถูกประตูรถไฟฟ้าหนีบนั่นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง Thai PBS, รถไฟฟ้าบีทีเอส

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button