ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย แก้ ม.112 ล้มล้างการปกครอง สั่งยุติการกระทำ
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย แก้ ม.112 ล้มล้างการปกครอง สั่งยุติการกระทำ เลิกแสดงความเห็น เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้อ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ยังไม่โดนยุบพรรค
จากกรณีที่ในวันนี้ 31 มกราคม 67 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติใน เวลา 09.30 น. กับนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น. จากกรณีที่ นายธีรยุทธ์ สุนทรเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การตรากฎหมายที่มีผู้อำนาจตราขึ้น เพื่อกำหนดระเบียบสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือเพื่อใช้บริหารประเทศ การที่สังคมจะอยู่ได้อย่างเรียบร้อย ต้องมีกฎชัดเจน แน่นอนเป็นธรรม โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของประเทศ โดยกฎหมายที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้
การที่ผู้ร้องที่ 1 ยื่นแก้กฎหมาย ม.112 มีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติม ม.112 จากเดิมหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดมั่นคงของประเทศ เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังทำให้ไม่มีความร้ายแรงเท่ากับความผิดต่อความมั่นคง มีเจตนามุ่งหมายที่แยกสถาบันกับประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สาระสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของไทย ว่าพระมหากษัตริย์ ดำรงฐานะเหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่ของไม่เข้าไปแข่งขันทางการเมือง เป็นฝักฝ่าย อันนำไปสู่ถึงการติเตียนและกระทบกระเทือน ดำรงไว้ซึ่งความเป็นการเมือง การที่ผู้ร้องทั้งสองเสนอแก้กฎหมายประมวลอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายพรรคในการเสียงเลือกตั้ง นำสถาบันลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ต้องไปเป็นฝักฝ่าย รณรงค์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้อ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง โดยข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งให้การผู้ถูกร้องเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น
เพื่อให้มีการยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่นิติบัญญัติโดยชอบ