ทหารตระเวนชายแดน มีหน้าที่อะไรบ้าง เงินเดือนเท่าไหร่ ใครอยากเป็นต้องอ่าน
ทหาร (Soldier) ยังคงเป็นหนึ่งในอาชีพใฝ่ฝันของใครหลายคน สำหรับผู้ที่อยากจะปฏิบัติภารกิจปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติ จากภัยคุกคามและศึกสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติหน้าที่ของทหารหน่วย กองกำลังป้องกันชายแดน และอาสาสมัครทหารพราน กรมทหารพราน ที่ต้องปกป้องพื้นที่บริเวณชายแดนตลอดจนเส้นทางธรรมชาติ จากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ
ดังนั้น สำหรับอาชีพทหารตระเวนชายแดนหน่วยต่าง ๆ ในประเทศไทย จะมีบทบาทหน้าที่ ขอบเขตการรับผิดชอบ ฐานเงินเดือนรวมไปถึงวิธีการสมัครอย่างไรบ้าง เพื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตทหาร รั่วของประเทศชาติอย่างไรบ้าง เข้ามาอ่านในนี้ได้เลยครับ
หน้าที่ของทหารตระเวนชายแดน
สำหรับประเภทของทหารตระเวนชายแดน จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 สังกัด คือ กองกำลังป้องกันชายแดน และกรมทหารพราน ซึ่งทั้งสองกองกำลัง มักปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย แต่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. กองกำลังป้องกันชายแดน (Border Protection Forces)
กองกำลังป้องกันชายแดน มีหน้าที่หลักในการป้องกันชายแดน โดยสกัดกั้น ยับยั้ง ตอบโต้ และผลักดันการละเมิดอธิปไตยของกองกำลังต่างชาติในเขตรับผิดชอบ มีภารกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ การปฏิบัติการพิเศษในพื้นที่ระวังป้องกัน, การเฝ้าตรวจและการป้องกันชายแดน, การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน และ การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้นยังได้รับภารกิจเพิ่มเติม คือ ภารกิจในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน, ภารกิจสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งป้องกันโควิด-19 และภารกิจป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ในปัจจุบัน กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก ที่ประจำการตามบริเวณเขตชายแดนทางบกทั่วประเทศ 31 จังหวัด รวมพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 5 พันกิโลเมตร ใน 7 กองกำลัง ดังนี้
1. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังสุรสีห์ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันตกติดกับสหภาพเมียนมา
2. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังบูรพา รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกติดประเทศกัมพูชา
3. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังสุรนารี รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกติดประเทศกัมพูชา
4. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือติดกับ สปป.ลาว
5. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังผาเมือง รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคเหนือติดกับ สปป.ลาว
6. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังนเรศวร รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งภาคเหนือติดกับสหภาพเมียนมา
7. หน่วยเฉพาะกิจ กองกำลังเทพสตรี รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งภาคใต้ติดกับสหภาพเมียนมา และมาเลเซีย
2. กรมทหารพราน
สำหรับ ทหารพราน เป็นกองกำลังทหารราบเบากึ่งทหาร ลาดตระเวนตามแนวชายแดนไทยและเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพไทย โดยทำงานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดน ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยเรียกตนเองว่า “อาสาสมัครทหารพราน”
ปัจจุบัน ทหารพรานมีกรมทหารพรานทั้งหมด 22 กรม 276 กองร้อย มีหมวดทหารพรานหญิงทั้งหมด 12 หมวด 71 หมู่ แบ่งได้ดังนี้
1. กองทัพภาคที่ 1 มี 4 กรมทหารพราน (36 กองร้อย) และ 2 หมวดทหารพรานหญิง (9 หมู่)
2. กองทัพภาคที่ 2 มี 4 กรมทหารพราน (46 กองร้อย) และ 2 หมวดทหารพรานหญิง (8 หมู่)
3. กองทัพภาคที่ 3 มี 5 กรมทหารพราน (50 กองร้อย) และ 2 หมวดทหารพรานหญิง (9 หมู่)
4. กองทัพภาคที่ 4 มี 9 กรมทหารพราน (144 กองร้อย) และ 6 หมวดทหารพรานหญิง (45 หมู่)
ฐานเงินเดือนของทหารตระเวนชายแดน
ฐานเงินเดือนของทหารตระเวนชายแดน ในสังกัดกองกำลังป้องกันชายแดน และอาสาสมัครทหารพราน กรมทหารพราน จะได้ตามฐานเงินเดือนปกติของทหารบก โดยแบ่งตามชั้นยศ ดังนี้
พลทหารประจําการ (พลอาสาสมัคร)
ให้รับเงินเดือนระดับ พ.2 เงินเดือนเริ่มต้นที่ 4,870 – 16,790 บาท
นายทหารประทวนยศตั้งแต่สิบตรี ถึง สิบเอก
ให้รับเงินเดือนระดับ ป.1 เงินเดือนเริ่มต้นที่ 7,140 – 38,750 บาท
นายทหารประทวนยศตั้งแต่จ่าสิบตรี ถึง จ่าสิบเอก
ให้รับเงินเดือนระดับ ป.2 เงินเดือนเริ่มต้นที่ 7,140 – 54,820 บาท
นายทหารประทวนยศจ่าสิบเอก
ให้รับเงินเดือนระดับ ป.2 เงินเดือนเริ่มต้นที่ 10,350 – 54,820 บาท
นายทหารสัญญาบัตรยศร้อยตรี ถึงร้อยเอก
ให้รับเงินเดือนระดับ น.1 เงินเดือนเริ่มต้นที่ 6,470 – 54,820 บาท
ทั้งนี้ นายทหารตระเวนชายแดน จะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ เพิ่มเติมจากเงินเดือน อาทิ เงินเพิ่มค่าฝ่าอันตราย เบี้ยงเลี้ยงสนาม ค่าครองชีพ เป็นต้น
หากประจำการในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะได้รับเงินตอบแทนพิเศษรายเดือนเพิ่ม 2,500 บาทต่อเดือน ทั้งยังได้รับการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณ (เช่น หากปฏิบัติงานในพื้นที่ 4 เดือน เวลาราชการจะนับเป็น 8 เดือน)
วิธีสมัครเข้าเป็นทหารตระเวนชายแดน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นรั้วของชาติ ในการประจำการท
ทหารตระเวนชายแดน สังกัดกองกำลังป้องกันชายแดน
การเข้าสมัครเป็นทหารตระเวนชายแดนในกองกำลังป้องกันชายแดนนั้น ขั้นตอนแรกต้องสมัครสอบเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายสิบทหารบก จากนั้นเมื่อเข้าศึกษาสำเร็จ ต้องทำคะแนนสอบให้ได้ลำดับต้น ๆ เพื่อให้ได้มีสิทธิเลือกบรรจุลงในกองกำลังป้องกันชายแดนในเขตพื้นที่ที่สนใจ หรือเลือกบรรจุลงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ใดสนใจอยากศึกษาต่อในโรงเรียนนายสิบทหารบก สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครนักเรียนในปีการศึกษาใหม่ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนนายสิบทหารบก
อาสมัครทหารพราน สังกัดกรมทหารพราน
ผู้ที่สนใจสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครทหารพรานนั้น จะมีการเปิดรับสมัครในทุกปี แต่ต้องสอบผ่านการคัดเลือก โดยมีการทดสอบสมรรถภาพด้านร่างกาย อาทิ ดันพื้น, ลุกนั่ง วิ่ง ต้องทำจำนวนครั้งหรือเวลาให้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก รวมถึงมีการสอบสัมภาษณ์ที่วัดบุคลิกลักษณะและปฏิภาณไหวพริบ
หลังจากผ่านการทดสอบทั้งภาคปฏิบัติและการสัมภาษณ์แล้ว ผู้ผ่านการทดสอบจะต้องเข้ารับการฝึกอบรบหลักสูตร อาสาสมัครทหารพรานเบื้องต้น ณ โรงเรียนทหารพราน ก่อนแยกย้ายไปบรรจุเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกรมทหารพรานต่าง ๆ ทั่วประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Pigkaploy ทำคลิป ลองใช้ชีวิตเป็นทหารชายแดน หาคำตอบ ทหารมีไว้ทำไม
- กองทัพบก ยืนยัน ‘Pigkaploy’ ไม่ใช่ไอโอทหาร ดราม่าทำคลิปทหารมีไว้ทำไม?
- สรุปดราม่า Pigkaploy ทำคลิป “ทหารมีไว้ทำไม” คนซัด โฆษณาชวนเชื่อ โต้ ไม่ได้รับบรีฟทหาร
อ้างอิง : SMART Soldiers Strong ARMY, สิทธิกำลังพล กองทัพไทย, วิกิพีเดีย, สายสืบโซเชียล