วิธีตรวจตั๋วขึ้นเครื่องบินแบบใหม่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง เริ่ม 16 มกราคม 67 นี้
เช็กวิธีตรวจบอร์ดดิ้งพาส แบบใหม่ ใช้เอกสารใดบ้างในการเดินทางด้วยเครื่องบิน เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง เริ่ม 16 ม.ค. 67 นี้
องค์กรกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน (CAAT) ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติการตรวจสอบ บอร์ดดิ้งพาส (Boarding Pass) และเอกสารยืนยันตัวตนแบบใหม่ เพื่อความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทุกคน เริ่มมีผลบังคับใช้ 16 มกราคม 2567 นี้
สำหรับ วิธีตรวจตั๋วขึ้นเครื่องบินแบบใหม่ ต้องใช้เอกสารที่จำเป็นในการเดินทางโดยเครื่องบิน ได้แก่ บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมด้วย บอร์ดดิ้งพาสที่ทางสายการบินเป็นผู้ออกให้
เอกสารระบุตัวตนของผู้โดยสาร ผ่านแอพพลิเคชัน
การแสดงเอกสารระบุตัวตนทางดิจิทัลนั้น ต้องแสดงผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ไม่นับรวมถึงรูปถ่ายและรูปภาพที่ทำการแคปเจอร์จากหน้าจอโทรศัพท์
สำหรับรายชื่อแอพพลิเคชันของหน่วยงานรัฐ ที่สามารถใช้แสดงเอกสารระบุตัวตนแบบดิจิทัล ได้แก่ ThaiD (บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านแบบดิจิทัล), DLT QR Licence (ใบอนุญาตขับรถดิจิทัล) และ แอปพลิเคชัน บัตรคนพิการ (บัตรประจำตัวคนพิการแบบดิจิทัล)
เอกสารยืนยันตัวตนที่ใช้ร่วมกับ บอร์ดดิ้งพาส สำหรับเที่ยวบินในประเทศ
รายละเอียดการใช้เอกสารยืนยันตัวตน ควบคู่กับ บอร์ดดิ้งพาส สำหรับเที่ยวบินในประทาง CAAT ได้แบ่งหลักเกณฑ์ออกเป็น 2 ประเภทผู้โดยสาร ดังนี้
เอกสารยืนยันตัวตน สำหรับผู้โดยสารสัญชาติไทย
ผู้โดยสารอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 7 ปี
1. บัตรประชาชนฉบับจริง หรือ สำเนาบัตรประชาชน ที่ได้รับการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน
2. หนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับจริง หรือ เอกสารแทนหนังสือเดินทาง ที่กระทรวงต่างประเทศออกให้
3. ใบอนุญาติขับขี่รถ ฉบับจริง, หนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุและสามเณร ฉบับจริง และบัตรประจำตัวคนพิการ
หมายเหตุ หากทำเอกสารข้างต้นหายหรือลืมนำมา สามารถใช้บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฉบับจริง, บัตรประจำตัวจิตอาสา ตัวจริง หรือ หลักฐานแจ้งความที่ไม่เกิน 7 วัน นับจากวันแจ้ง ร่วมกับบัตร (ฉบับจริง) หรือสำเนาบัตร หรือรูปถ่ายบัตรประจำตัว ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีใบหน้าของผู้โดยสาร และเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก
ผู้โดยสารอายุน้อยกว่า 7 ปี
1. สูจิบัตร ฉบับจริง หรือ สำเนาสูจิบัตร ที่ได้รับการรับรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
2. หนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับจริง หรือ เอกสารแทนหนังสือเดินทาง ที่กระทรวงต่างประเทศออกให้
3. ทะเบียนบ้าน ฉบับจริง หรือ สำเนาข้อมูลทะเบียนบ้านที่ได้รับการรับรอง หรือโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร
4. หนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุและสามเณร ฉบับจริง และบัตรประจำตัวคนพิการ
เอกสารยืนยันตัวตน สำหรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ
1. หนังสือเดินทาง (Passport) ฉบับจริง ที่ออกโดยรัฐของผู้ถือสัญชาตินั้น
2. เอกสารการเดินทางที่ออกโดยสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer) ฉบับจริง
3. เอกสารการเดินทางของผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัยที่ออกโดยสหประชาชาติ หรือรัฐที่รับผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัย (Travel Document for Refugees and People Seeking Asylum issued by United Nations or by the government of issuing countries) ฉบับจริง
หมายเหตุ หากทำเอกสารข้างต้นหายหรือลืมนำมา สามารถใช้เอกสารซึ่งออกแทนหนังสือเดินทาง โดยสถานทูตของผู้ถือสัญชาตินั้น ซึ่งรวมถึง หนังสือเดินทางฉุกเฉิน ฉบับจริง, บัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือเอกสารซึ่งออกแทนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียน ฉบับจริง, และใบอนุญาตขับขี่รถสำหรับคนต่างชาติ ที่ออกโดยกรมขนส่งทางบก ฉบับจริง
รูปแบบของ บอร์ดดิ้งพาส ที่ใช้ได้
บอร์ดดิ้งพาสที่สามารถใช้เพื่อผ่านเข้าไปในห้องพักผู้โดยสารได้ มีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่
1. บอร์ดดิ้งพาส ที่สายการบินออกให้ ณ จุดเคาน์เตอร์เช็คอิน
2. บอร์ดดิ้งพาส ที่ผู้โดยสารพิมพ์ด้วยตนเอง จากตู้เช็คอินอัตโนมัติ (Self Check-in Kiosk)
3. บอร์ดดิ้งพาสอิเล็กทรอนิกส์ ที่แสดงผ่าน แอปพลิเคชันของสายการบิน หรือ วอลเล็ตแอปพลิเคชัน หรือ อีเมล์ ที่ส่งโดยสายการบินเท่านั้น
4. ไฟล์ PDF ในโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ที่สายการบินจัดส่งให้ผู้โดยสาร
หมายเหตุ
1. ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ บอร์ดดิ้งพาส ที่เป็นรูปถ่ายหรือรูปภาพบันทึกหน้าจอ (Capture) จากโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เพื่อแสดงตนในการเดินทางทางอาการได้
2. ผู้โดยสารคนใด ที่ได้เปลี่ยนชื่อ และ นามสกุลใหม่ โปรดระวัง หากชื่อ และ นามสกุล ไม่ตรงกับบอร์ดดิ้งพาส รวมถึงไม่ตรงกับ บัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง สายการบินและสนามบินมีสิทธิปฏิเสธการเข้าพื้นที่สนามบินและการเดินทางได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เวียตเจ็ท ชี้แจงเหตุ เครื่องบินเคลื่อนจอดผิดช่อง ที่สนามบินฟุกุโอกะ
- รู้แล้ว ทำไมสัมภาระขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 7 กิโลกรัม