งานวิจัย พบ นาโนพลาสติกในขวดน้ำดื่ม มีมากถึง 2.4 แสนชิ้น ซึมเข้ากระแสเลือดได้
นักวิทยาศาสตร์ ตีพิมพ์รายงานวิจัย พบนาโนพลาสติก ปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก มากถึง 2.4 แสนชิ้น ปัจจุบันยังไม่มีรายงานอันตรายจากนาโนพลาสติกในร่างกาย
นิตยสาร TIME รายงาน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส เปิดผลวิจัย น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกอาจปนเปื้อนด้วยนาโนพลาสติกหลักแสนชิ้น ทั้งยังสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้
งานวิจัยดังกล่าว ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อค้นหาเศษชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ค้นพบจำนวนอนุภาคพลาสติกในน้ำบรรจุขวดเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในบางกรณีอาจมีมากกว่า 100 ชิ้น ซึ่งเทคโนโลยีดังนี้ถูกคิดค้นโดยนักชีวฟิสิกส์ชาวโคลัมเบียและผู้ร่วมวิจัยอย่าง เหว่ย มิน ผู้เขียนงานวิจัย ที่ได้ค้นพบเศษพลาสติกโดยเฉลี่ย 240,000 ชิ้น ต่อ น้ำดื่มบรรจุขวด 1 ลิตร
ในตัวของเศษพลาสติก ประมาณ 90% เป็นนาโนพลาสติก ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถผ่านเข้าไปในลำไส้และปอด ตลอดจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ จากนั้นเศษพลาสติกเหล่านี้จะเกาอยู่ตามกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ ส่งผ่านไปกับเลือดเข้าสู่สมอง แม้กระทั่งสามารถเข้าไปสู่ร่างกายของทารกภายในครรภ์ได้อีกด้วย
สำหรับการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ได้นำน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก 3 ยี่ห้อมาทดสอบ ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ผลิตมาจากโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ที่เป็นพลาสติกที่นิยมใช้ในอุตสาหรกรรมเครื่องดื่มบรรจุขวด จากการทดลองพบว่า อนุภาคพลาสติกอาจกระเด็นลงไปในน้ำเมื่อทำการบีบขวด หรือเมื่อเปิด – ปิดฝาขวดแบบซ้ำ ๆ
ด้านพลาสติกอีกตัวที่ค้นพบในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด คือ ไนลอน เหว่ย มิน ร่วมกับ เบซาน หยาน ศาสตราจารย์วิจัยธรณีเคมี Lamont-Doherty Earth Observatory (LDEO) ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ชี้ให้เห็นว่า อนุภาคดังกล่าวเป็นความจริง อาจจากตัวกรองที่ออกแบบมาเพื่อทำให้น้ำมีความบริสุทธิ์
จนถึงปัจจุบัน มีงานวิจัยไม่มากที่แสดงให้เห็นว่า นาโนพลาสติก สร้างโทษแก่ร่างกายเมื่อซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างไร แต่มีหลักฐานปรากฎมากมายว่าสารเคมีที่ใช้ผลิตพลาสติกนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพและการสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม้ว่านาโนพลาสติกอาจไม่ก่ออันตราย แต่สามารถทำหน้าที่เป็นพาหะที่จะนำสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการผลิตพลาสติก เช่น บิสฟีนอล พทาเลท ไดออกซิน สารปนเปื้อนอินทรีย์ และโลหะหนัก ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
หากรับสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง รวมถึงส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในที่สำคัญ อาทิ ไต ตับ หัวใจ ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท อีกทั้งยังสามารถสะสมผ่านห่วงโซ่อาหารได้อีกด้วย
“มีโลกใบใหญ่ของนาโนพลาสติก ที่เราต้องศึกษาเพิ่มเติม แม้ว่านาโนพลาสติกจะเป็น 90% ของจำนวนอนุภาคพลาสติกที่ค้นพบในน้ำดื่มบรรจุขวด แต่ก็มีมวลน้อยกว่ามาก ซึ่งขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่อย่างใด มันเป็นแค่ตัวเลข เพราะสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้มันสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น” เหว่ย มิน กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง